ทำไม? สตาร์ทอัพไทยถึงอยากไปตั้งฐานที่ “สิงคโปร์”

เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียและของโลก พิสูจน์ได้จาก 40% ของหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ใน SGX ไม่มีฐานธุรกิจอยู่ในสิงคโปร์เลยด้วยซ้ำ แต่เป็นบริษัทระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ที่เลือกจะเข้ามาระดมทุนที่สิงคโปร์

การเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจในอาเซียนก็เข้ามาจดทะเบียนที่นี้มากพอสมควร แม้แต่ เมียนมา, ลาว, เวียดนาม ส่วนบริษัทสัญชาติไทยก็เข้ามาจดทะเบียนถึง 13 บริษัท (ที่รู้จักกันดีคือหุ้นไทยเบฟ หรือ THBEV ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีเป็นอันดับสองในปีที่ผ่านมา)

บุคลากรพร้อม เหมาะสำหรับบริษัทเทคโนโลยี

สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์เป็นเป้าหมายอันดับแรกๆ ของนักลงทุนทั่วโลก นอกเหนือการเปิดเสรีด้านการเงินและความง่ายในการดำเนินธุรกิจ ก็คือการมุ่งเน้นพัฒนาในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรในด้านไอซีที (สิงคโปร์ใช้ศัพท์ว่า Infocomm) นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่บริษัทด้านเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ อยากจะเข้ามาตั้งฐานธุรกิจที่นี้ แม้แต่สตาร์ทอัพจากประเทศไทยได้ยินมาว่าก็ไปจดทะเบียนบริษัทที่สิงคโปร์ไม่น้อยเช่นกันเพียงแต่ไม่ได้ออกมาให้ข้อมูล

ข้อมูลจาก SGX ระบุว่า สิงคโปร์มีบุคลากรมืออาชีพทางด้าน Infocomm กว่า 146,000 คน ติดอันดับสามประเทศที่เป็นได้รับความสนใจจากบุคลากรทางด้านไอซีทีมืออาชีพที่จะเข้ามาทำงานมากที่สุด รวมถึงได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการนำนวัตรกรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุด

มีการประเมินด้วยว่า มูลค่าตลาดเทคโนโลยีในการพัฒนา Smart City ในภูมิภาคเอเชียจะแตะระดับ 100,000 ล้านเหรียญภายในปี 2025

รัฐบาลสิงคโปร์ สนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากไหน

ขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐ สิงคโปร์ได้เข้ามาสนับสนุนการสร้างบุคลากรทางด้าน Infocomm กว่า 80,000 ตำแหน่ง มีการใช้เงินลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์กว่า 335 ล้านเหรียญสิงคโปร์หรือ 8,400 ล้านบาท ปัจจุบัน SGX มีบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาจดทะเบียนทั้งหมด 78 บริษัท ใหญ่ที่สุดก็คือสิงคโปร์เทเลคอมหรือ Singtel (ตลาดหุ้นไทยนอกจากค่ายมือถือทั้งสามแล้ว แทบไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใดที่โดดเด่นอีกเลย)

รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ให้การสนับสนุนเงินทุน (Funding) กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 144 ราย ในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมาด้วยเม็ดเงิน 41.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์หรือราวๆ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลทางด้านการเงินหรือ MAS ยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนให้สิงคโปร์เป็น Smart Financial Centre ของโลก ด้วยเงินลงทุน 225 ล้านเหรียญสิงคโปร์

สิงคโปร์ ยังถูกจัดอันดับโดย เอิร์นส์แอนด์ยัง ว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนด้านฟินเทคอันดับ 4 ของโลกและอันดับหนึ่งในเอเชีย ขณะที่ฮ่องกงยังอยู่ที่ระดับ 7 โดยสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การสนับสนุนจากรัฐบาล สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การใช้ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ส่วนหนึ่งที่สิงคโปร์ได้เปรียบฮ่องกงเพราะฮ่องกงนั่นอยู่ใกล้กับประเทศจีนมากเกินไปซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่อย่างอาลีบาบาอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพยังกล้าๆ กลัวๆ ในการเปิดตลาด

ไปเถอะ ถ้าคิดจะ “โกอินเตอร์”

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์มา ที่พูดกันว่าสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างง่ายนั่นเป็นความจริง แม้จะมีกฎระเบียบต่างๆ อย่างเช่น สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ ที่ต้องมีชาวสิงคโปร์ร่วมหุ้นด้วย แต่จริงแล้วก็ยังมีช่องทางให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% เช่นกัน เพียงแค่ระบุวัตถุประสงค์การจัดตั้งไปว่าเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีหรืออยู่ในธุรกิจที่รัฐบาลสนับสนุน (ก็คือสตาร์ทอัพนั่นแหละ)

นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษา (ผมแนะนำให้จ้างไปเถอะ ดีกว่าไปคลำทางเองเสียเวลา) ยังมีบริการที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจครบวงจร เช่น จัดหาบุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสายอาชีพที่เฉพาะทาง เช่น นักกฎหมาย ผู้จัดการกองทุน โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ เรียกได้ว่าสิงคโปร์มีบุคลากรที่เพียบพร้อมในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับนักลงทุนต่างชาติ หรือจะช่วยหา Angle Investor หรือ VC ให้ก็ยังได้ ขณะที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องของบุคลากรทางด้านไอทีที่ไม่เพียงพอ

สรุป สตาร์ทอัพไทยที่อยากจะ “โกอินเตอร์” แบบจริงๆ จังๆ ไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ไว้ก็ดี ใช้เงินก็ไม่มาก และมีปัจจัยสนับสนุนมากมาย ถ้ายังเน้นธุรกิจในไทยก็ไปเปิดบริษัททิ้งไว้ก่อนก็ได้ มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยอย่างเช่นการรักษาบัญชีธนาคาร และเมื่อต้องการจะเปิดตลาดต่างประเทศเต็มตัวก็ค่อยย้ายฐานมา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT