วิจัยกรุงศรี ปรับเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็น -6.4% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -10.3% และคาดว่าอัตราการเติบโตปี 2564 จะอยู่ที่ 3.3%
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ด้วยปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์ภายนอกประเทศ วิจัยกรุงศรีมองเห็นความท้าทายรออยู่ท่ามกลางปัจจัยลบสถานการณ์ในประเทศ
ขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช้ากว่าปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคบริการ ภาวะการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลถึงความต่อเนื่องของนโยบาย
คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมาที่ 4.0 ล้านคนในปี 2564 จาก 6.7 ล้านคนในปี 2563 จากความกังวลของสถานการณ์แพร่ระบาด การเปิดประเทศด้วยการจับคู่การเดินทางที่ล่าช้า การควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยาวนานกว่าที่คาด แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เกิดขึ้นจนไตรมาส 4/2564
ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนปี 2563 จาก -4.2% เป็น -1.1% และคาดว่าจะเติบโตที่ 2.5% ในปี 2564 การใช้จ่ายของผู้บริโภคปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยปัจจัยหนุนจากมาตรการให้เงินชวยเหลือวงเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 2 และ ปี 2563
ปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (งบประมาณพิเศษของรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท) กำลังซื้อจากกลุ่มชั้นกลางและและกลุ่มที่มีรายได้สูงจะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง
ปรับเพิ่มคาดการณ์เติบโตของส่งออกปี 2563 จาก -12.5% เป็น-7.5% และประเมินส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.5% ทั้งนี้ องค์การการค้าโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะกระเตื้องขึ้นเป็นบวก 7.2% ในปี 2564 จากคาดการณ์ที่ -9.2% ในปี 2563
ปรับเพิ่มคาดการณ์เติบโตของการลงทุนภาคเอกชนปี 2563 เป็น -11% และคาดการเติบโตปี 2564 ที่ 3.2% วิจัยกรุงศรีมองเห็นสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่งออก
ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการลงทุนภาครัฐปี 2563 มาที่ 12.5% และคาดว่าจะเติบโตที่ 10.5% ในปี 2564 รัฐบาลมีแผนที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะที่ความล่าข้าของการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 2563 กลายเป็นปัจจัยบวกสำหรับการลงทุนในภาครัฐปี 2564
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลงและคาดว่าจะมีมาตรการช่ยเหลือเพิ่มเติมในปี 2564 ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลกบ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดปี 2564
ที่มา – วิจัยกรุงศรี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา