ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังมีความสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงการวางพื้นฐานของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 เพื่อที่โลกจะได้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาเหล่านี้ที่เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศกำลังทยอยฟื้นตัว แต่เธอเองก็ได้เตือนถึงว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบที่ 2 นั้นอาจทำให้โมเมนตัมของการฟื้นตัวนั้นหายไป จากมาตรการของประเทศต่างๆ ที่พยายามป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 กำลังเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ
มุมมองของ IMF มองว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกพบกับข้อดีหลายๆ อย่าง เช่น การพัฒนาวัคซีน หรือยารักษา COVID-19 ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาปกติได้ไว การจำกัดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการของธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศต่าง อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งนั้นโลกยังพบความท้าทายเช่น การ
กระจายวัคซีน หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นหลังจากนี้ อัตราว่างงานสูงขึ้น เป็นต้น
ผู้อำนวยการของ IMF ยังได้ชี้ถึง 2 เรื่องสำคัญที่จะลดความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ลง
- หลีกเลี่ยงการยกเลิกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนกำหนด ซึ่ง IMF มองว่าหลายๆ ประเทศยังมีช่องว่างทางการเงินที่จะใช้มาตรการดังกล่าวต่อเนื่องออกไปได้ แต่บางประเทศที่มีสภาพการเงินและการคลังที่อ่อนแอและสามารถใช้นโยบายได้จำกัด IMF มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบการใช้จ่ายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มที่เสี่ยงสุดก่อน
- เตรียมความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่หากหลังวิกฤติ COVID-19 จะช่วยทำให้เศรษฐกิจสามารถดีดตัวได้ทันที รวมไปถึงการลงทุนด้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือสภาพอากาศในอนาคต (เช่น พลังงานสะอาด การดูแลสภาพแวดล้อม) หรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดแผลเป็นของเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน รวมไปถึงเพิ่มผลิตภาพของภาคเอกชน
นอกจากนี้ผู้อำนวยการของ IMF ยังกล่าวถึงการวางรากฐานของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ให้ดีขึ้นกว่านี้ในหลายๆ ด้าน เพื่อที่โลกจะได้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน โดยเรื่องที่กล่าวถึงนั้นเช่น ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ที่การลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้จะสร้างงานได้มากถึง 12 ล้านตำแหน่ง และยังเพิ่ม GDP ทั่วโลก การเพิ่มทักษะ การฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อรองรับยุคดิจิทัลในอนาคต รวมถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อแรงงานทักษะต่ำสามารถเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19
ขณะที่เรื่องอื่นๆ ที่กล่าวถึงคือเรื่องภาระหนี้ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ควรจะมีการจัดการอย่างยั่งยืนหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี ฯลฯ ซึ่งวิกฤติของ COVID-19 นี้ทำให้หนี้สาธารณะของหลายๆ ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันประเทศหลายๆ ประเทศควรมีความร่วมมือที่มากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนา 20 ประเทศ หรือ G20 ในการเจรจาแบบพหุภาคีเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ด้อยกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา