Warren Buffett เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการลงทุน เขาผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็สามารถข้ามผ่านมาได้อย่างสง่างาม ช่วงโควิดที่ผ่านมาแม้ว่าหลายธุรกิจจะต้องล้มหายตายจากไป แต่เขาก็ยังสามารถทำกำไรจากหุ้นได้มหาศาล
Brand Inside ขอพาทุกท่านไปร่วมไขความลับว่า เขามีหลักคิดในการ “ตัดสินใจ” อย่างไร ถึงสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งด้านการเงิน การงาน และการใช้ชีวิต
Warren Buffet กล่าวว่าผู้คนส่วนใหญ่มักคิดมากเกินไปใน “เรื่องเล็ก” ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต แต่กลับไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วนในเรื่องที่ “สำคัญ” และส่งผลกระทบต่อชีวิตมากกว่า ดังนั้น เขาจึงให้คำแนะนำว่า คนเราควรโฟกัส “เรื่องสำคัญ” ซึ่งมีจำนวนไม่มาก ดีกว่าไปโฟกัส “เรื่องไม่สำคัญ” จำนวนมากที่เข้ามารบกวนจิตใจในแต่ละวัน
การตัดสินใจ “ลงทุน” ในแบบ Warren Buffet
สิ่งที่เหล่านักลงทุนต้องพบเป็นประจำ คือการได้รับ “ข้อมูลจำนวนมาก” ในแต่ละวัน ซึ่งแทนที่ข้อมูลเหล่านั้นจะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำกลับส่งผลให้การตัดสินใจเป็นไปได้ยากขึ้น
เขาไม่เห็นด้วยกับการที่คนส่วนใหญ่แห่ซื้อหุ้นตามๆ กัน เพราะเขาเชื่อว่าเวลาที่ควรซื้อหุ้นที่สุด คือเวลาที่คนส่วนใหญ่ไม่ซื้อกัน เขายังแนะนำอีกว่า “ข้อมูลเก่า” ไม่ได้ช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้ขนาดนั้น เพราะถ้าข้อมูลเหล่านี้ช่วยได้จริง บรรณารักษ์ก็คงเป็นอาชีพซึ่งรวยที่สุดในโลกไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทเทคโนโลยีที่วาดฝันภาพแห่งโลกอนาคตจะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม Warren Buffet แนะนำว่า ตัวเขาเองตัดสินใจลงทุนใน “ธุรกิจที่มั่นใจได้ว่าจะให้ผลตอบแทนดี” มากกว่า ธุรกิจที่ “วาดฝัน” ให้ผู้คนเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนดีนั่นเอง
การตัดสินใจ “เรื่องสำคัญ” ของชีวิตในแบบ Warren Buffet
เขาใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการอ่านหนังสือและการครุ่นคิดเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทำให้เมื่อเทียบกับนักธุรกิจคนอื่นๆ แล้ว เขาจะมีช่วงเวลาที่ต้อง “ตัดสินใจอย่างเร่งรีบ” น้อยกว่า และเขาเคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่คนส่วนมากมักทำผิดพลาด คือ “ไม่ยอมครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง” เมื่อต้องตัดสินใจ
เขาแนะนำว่า หากต้องตัดสินใจเลือกว่าจะ “ทุ่มเทเวลา” กับอะไร ให้ลองใช้ “หลักการ 5:25” คือให้ลองลิสต์สิ่งที่อยากทำมา 25 อย่าง แล้วเลือกมาเพียง 5 อย่างที่คิดว่าสำคัญและส่งผลดีต่อชีวิตที่สุด เพราะโดยปกติคนเรามักจะเสียเวลาไปกับอีก 20 สิ่งที่เหลือ ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทกับสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ได้อย่างเต็มที่
จะเห็นได้ว่า Warren Buffet ให้ความสำคัญกับการบริหารเวลาเป็นอย่างมาก เพราะเขาเชื่อว่า “ถึงแม้จะมีเงินมากขนาดไหนก็ไม่สามารถซื้อเวลาเพิ่มได้” ดังนั้น เขาจึงไม่ยอมเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ และหันมาทุ่มเทเวลาให้กับคนสำคัญในชีวิตของเขาแทน
อย่างไรก็ตาม เขาก็เคยเล่าว่า ตัวเอง “ตัดสินใจผิดพลาด” มาหลายต่อหลายครั้ง และในอนาคตก็มีโอกาสที่เขาจะตัดสินใจผิดพลาดอีก อย่าคาดหวังว่าทุกอย่างต้องออกมา “สมบูรณ์แบบ” ที่สุด แต่ให้ทบทวนตัวเองว่าได้คิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจอย่างเต็มที่ที่สุดแล้วหรือยังจะดีกว่า
คนแบบไหนที่ Warren Buffet “ตัดสินใจ” ร่วมงานด้วย
Warren Buffet พูดเสมอว่า สิ่งที่ควรลงทุนที่สุดในชีวิต คือ “ความสัมพันธ์กับคน” ดังน้้น เขาจึงเชื่อว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำงาน คือการสร้างความเชื่อใจกันระหว่างคนในทีม เขาจึงมีวิธีตัดสินใจเลือกคนมาทำงานร่วมกัน ดังนี้
1. คนที่พูดคุยด้วยแล้ว “สบายใจ”
กล่าวคือ ต้องเป็นคนที่ช่วยให้ลูกน้อง “รู้สึกปลอดภัย” เมื่อแสดงความคิดเห็น และ “รู้สึกสบายใจ” หากต้องเปิดเผยมุมอ่อนแอ เช่น ความกลัวหรือความล้มเหลวออกมา
2. คนที่ “ให้ความสำคัญ” กับ “ความสำเร็จทั้งเล็กและใหญ่” ของคนในทีม
เขาเล่าว่า ผู้นำบางคนมักจะสรรเสริญเยินยอพนักงานที่สร้างผลกำไรหรือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงแล้วในฐานะหัวหน้าเราก็ควรให้ความสำคัญกับพนักงานคนอื่นๆ ที่สร้างประโยชน์หรือความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้องค์กรด้วยเช่นเดียวกัน
3. คนที่ใช้ “อีโก้” ได้ถูกทาง
เขาให้ความสนใจกับคนที่บริหารอีโก้ของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น กล่าวคือ ใช้อีโก้ที่มีอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม ไม่ใช่เพื่อรอรับผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับการตัดสินใจของบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายท่าน เช่น Napoleon Hill (นักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตัวเองชื่อดัง), Chip Heath (ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด) และ Arnold Schwarzenegge (นักแสดงชื่อดัง)
ตัวอย่างเคล็ดลับการตัดสินใจของ “บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก”
Napoleon Hill เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่ประสบความสำเร็จ” จะตัดสินใจได้ทันทีเมื่อมีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วนและพวกเขาจะเปลี่ยนใจยาก ในทางกลับกัน “คนทั่วไป” มักจะตัดสินใจช้าและเปลี่ยนใจง่ายกว่า
สิ่งสำคัญที่เขาเน้นย้ำ คือ “ผู้ที่ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว” มักจะเป็นคนที่ทราบดีอยู่แล้วว่า “ชีวิตตัวเองต้องการอะไร” เพราะพวกเขาจะเลือกใน “สิ่งที่ช่วยพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย” ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ถ้าสิ่งไหนไม่ได้ช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย พวกเขาก็จะตัดทิ้งและเดินหน้าต่ออย่างมั่นใจ ในทางกลับกันคนทั่วไปมักเชื่อคำแนะนำของคนรอบข้างและเลือกสิ่งที่ดูดีหรือดูเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่า
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะตัดสินใจอะไรไปทุกคนก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ อย่างน้อยก็ได้ก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว อีกทั้ง ข้อผิดพลาดทั้งเล็กและใหญ่ที่ได้เรียนรู้ก็จะช่วยขัดเกลาให้ชีวิตมีคุณค่าและมีความหมายมากยิ่งขึ้น
Chip Heath ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดแนะนำว่า เมื่อตัดสินใจให้ลองใช้ “หลักการ 10/10/10” กล่าวคือ ให้ลองคิดคำนวณดูว่า
ถ้าตัดสินใจแบบนี้ ในอีก “10 นาที” เราจะรู้สึกอย่างไร
ถ้าตัดสินใจแบบนี้ ในอีก “10 เดือน” เราจะรู้สึกอย่างไร
ถ้าตัดสินใจแบบนี้ ในอีก “10 ปี” เราจะรู้สึกอย่างไร
3 คำถามนี้ช่วยให้เราประเมินได้ว่า แต่ละทางเลือกจะมีผลต่อชีวิตในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรบ้าง เพราะบางอย่างที่สำคัญใน 10 นาทีต่อจากนี้ อาจจะไม่ได้สำคัญอีกใน 10 เดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ดูไม่สำคัญใน 10 เดือนนี้ อาจจะสำคัญต่ออนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้
Arnold Schwarzenegge นักแสดงชื่อดังก็แนะนำว่า “อย่าคิดมากจนเกินเหตุ ถ้าคุณใช้สมองครุ่นคิดตลอดเวลา จิตใจจะไม่ได้ผ่อนคลายเลย” และคนที่เชื่อว่าต้องใช้สมอง “คิดวิเคราะห์” ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้นั้นจะค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการฟังสัญชาตญานของตัวเองในท้ายที่สุด
ที่มา : marketwatch, scmp, gurufocus, moneycrashers, Inc, ssaurel, ipl
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา