โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2563 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563) ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลกำไรสุทธิ 1,008.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 2.46% ขณะที่กำไรสุทธิงวด 9 เดือน เท่ากับ 1,730.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.04%
สำหรับสาเหตุที่ผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ของกลุ่มบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีรายได้รวมเท่ากับ 3,388.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,233.33 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57.23% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 2,155.12 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนมีรายได้รวมเท่ากับ 6,819.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,695.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.17% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 5,159.45 ล้านบาท
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีกำไรพิเศษจากการจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Utsonomiya ในประเทศญี่ปุ่นขนาด 66.78 เมกะวัตต์ ซึ่ง GUNKUL ถือหุ้นอยู่ 100% ในราคา 1,680 ล้านบาท ซึ่งกำไรพิเศษหลังหักรายการทางภาษีแล้วจะเท่ากับ 806.53 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงที่เหลือปีนี้ของกลุ่มบริษัทฯ เชื่อว่าน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมทั้งในและต่างประเทศที่ได้ COD ไปก่อนหน้านี้ และเตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากได้งานจะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ผลการดำเนินงานปีนี้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาเข้าลงทุนโครงการด้านพลังงานทดแทนที่ต่างประเทศ 2-3 โครงการ คาดว่าภายในไตรมาส 4/63 นี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งหากได้งานจะช่วยสนับสนุนให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท และทำให้รายได้และกำไรสุทธิในปีนี้จะเติบโตตามเป้าที่ได้ตั้งไว้
“ผลประกอบการไตรมาส3 เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากสามารถเติบโตทั้งรายได้และกำไรจากทุกภาคส่วนธุรกิจที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Utsonomiya ในประเทศญี่ปุ่นขนาด 66.78 เมกะวัตต์ ส่วนทิศทางไตรมาส 4 เชื่อว่าน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยบริษัทฯ ยังมีข่าวดีจากการเข้าลงทุนในต่างประเทศ 2-3 โครงการให้ลุ้น หากได้งานดังกล่าวจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโตเพิ่มมากขึ้น” นางสาวโศภชากล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้ง บริษัทย่อยเพื่อร่วมกันดำเนินการศึกษาตลาด B2B (Business-to-business) โดยมีเป้าหมายในการสร้างการเข้าถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกระดับ ซึ่งจะถือเป็นเอ็นเนอร์ยีเทครายแรกที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการให้บริการซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าในอนาคต โดยมี ‘GUNKUL SPECTRUM’ หน่วยงานธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานของบริษัทฯ เป็นผู้ดูแลและร่วมสร้างให้ตลาดนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Head Of Energy Innovation Pioneer, Gunkul SPECTRUM หน่วยธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงาน กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเอ็นเนอร์ยีเทครายแรกที่มีเป้าหมายทางธุรกิจหลักคือวิจัยและสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในการซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าระดับ B2B โดยการนำแนวการทำธุรกิจ E-Commerce มาใช้ในการดำเนินธุรกิจนี้ โดยการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง GUNKUL SPECTRUM และ SCB10X นั้นในช่วงแรกฝั่ง GUNKUL SPECTRUM จะเน้นที่การศึกษาตลาด ทำความเข้าใจความซับซ้อนและพฤติกรรมการซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน รวมไปถึงรับผิดชอบในด้านของการวางกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจที่จะเกิดขึ้น พร้อมไปกับการสร้างทีมร่วมกับ SCB10X ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ Go-to-market เป็นฝ่ายพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา