กลยุทธ์การปรับตัวร้านอาหารของ ZEN Group: ปรับโครงสร้างองค์กร-ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มรายได้

เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เผยภาพรวมในการทำธุรกิจร้านอาหาร โดยสามารถทำกำไรสุทธิได้ 45.5 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผย 5 กลยุทธ์สำคัญที่ ZEN ใช้ในการบริหารธุรกิจร้านอาหารอีกด้วย

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เล่าถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2563 ว่าปรับตัวดีขึ้น มีกำไรสุทธิ 45.5 ล้านบาท และได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

สำหรับสถิติการเข้ามาทานอาหารที่ร้านของ ZEN บุญยง เผยว่าลูกค้ากลับมานั่งทานอาหารที่ร้านแล้วประมาณ 80-85% แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในอนาคตช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนคนทานอาหารที่หน้าร้านคงไม่เกิน 90% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้เทคโนโลยีจนเคยชินไปแล้ว

สำหรับกลยุทธ์ที่ ZEN ใช้ในการบริหารธุรกิจร้านอาหาร จนมีผลกำไรที่มากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา บุญยง เล่าว่า มีกลยุทธ์สำคัญ ดังนี้

ปรับธุรกิจกระจายความเสี่ยง

ในช่วงแรกๆ ZEN มีการทำธุรกิจร้านอาหารที่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ภายในห้างเป็นหลัก จนกระทั่งเข้าไปซื้อธุรกิจร้านอาหารตำมั่ว จึงเริ่มขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ เพื่อลดความเสี่ยง และเงินลงทุนที่ต้องใช้

สำหรับในปัจจุบัน ร้านอาหารในเครือของ ZEN มีทั้งหมด 340 สาขา (นับจนถึงสิ้นปีนี้) ทั้งแบบที่ลงทุนเอง และรูปแบบแฟรนไชส์ ส่วนในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีร้านอาหารในเครือเพิ่มขึ้นเป็น 400 สาขา โดยจะเน้นไปที่การขยายสาขาร้านอาหารที่มีศักยภาพ

นอกจากการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์แล้ว สาขาใหม่ๆ ของร้านอาหารในเครือ ZEN จะอยู่ในพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะร้านเขียง ที่เปิดทั้งในพื้นที่นอกเมือง และในเมือง เน้นไปที่ย่านที่อยู่อาศัย และย่านทำงาน

คนเดินห้างน้อยลง ต้องเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า

นอกจากการกระจายร้านอาหารในเครือออกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงอื่นๆ นอกเหนือจากการนั่งทานที่ร้าน หรือที่เรียกว่า ไดน์อิน โดยเฉพาะบริการเดลิเวอรี ทั้งช่องทางของ ZEN เอง และบริการจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรีต่างๆ รวมถึง Call Center 1367 ด้วย

สำหรับสัดส่วนของบริการเดลิเวอรีของ ZEN เพิ่มขึ้นจาก 1-3% กลายเป็น 10% ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มช่องทาง Omni Channel เชื่อมต่อระหว่างช่องทางออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกันด้วย โดยจะมีการจับมือกับ Shopee และ Lazada ในการออกบริการ e-Marketplace เพื่อรวบรวมข้อมูลของลูกค้า การสั่งอาหาร โปรโมชัน และราคา นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า โดยบุญยง ยกตัวอย่างด้วยว่าจะมีการจำหน่าย e-Coupon ราคาพิเศษ อีกด้วย

ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ คล่องตัวมากขึ้น

ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 ZEN ใช้วิธีการบริหารแบบแยกแต่ละแบรนด์ แต่หลังจากเกิดการล็อคดาวน์ มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ควบรวม Back Office เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะฝ่ายการตลาดที่เป็นเหมือนกองกลาง ทำให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับการคาดการณ์รายได้ในช่วงปีหน้า คาดการณ์ว่าจะเติบโต 40% เนื่องจากในปีนี้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่ในปีหน้า คาดว่ารายได้จะกลับสู่ระดับ 3,000 ล้านบาท โดยอัตรากำไรจะมีความแข็งแกร่งต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา