ตลาดไพรเวทแบงค์ (Private Banking) เป็นเซกเมนต์หนึ่งของธุรกิจธนาคารที่เติบโตรวดเร็ว สอดรับกับความต้องการของกลุ่มบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูง (high net worth individual หรือ HNWI) ทั่วโลกที่ต้องการบริหารความมั่งคั่งของตัวเองและครอบครัว
ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้นำด้านการบริหารความมั่งคั่งของไทยภายใต้บริการ KBank Private Banking ก็ยังเดินหน้ารักษาความเป็นหนึ่งต่อไปในปี 2560/2017 โดยอาศัยความเป็นพันธมิตรกับลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) ไพรเวทแบงค์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 200 ปี ขยายบริการ private banking ให้กับลูกค้าในไทยให้มากขึ้น
ตลาดบุคคลสินทรัพย์สูงยังเติบโต กสิกรรักษาเบอร์ 1 ในไทย
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่าตลาดกลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูง (HNWI) ที่ถือครองสินทรัพย์ 35 ล้านบาทต่อราย เติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปีทั่วโลกในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา และตลาดไทย-เอเชียมีอัตราเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกคือ 10-11% ต่อปี ถือว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกในอนาคต
ส่วนตลาด HNWI ในไทย ถ้าคิดที่มูลค่าสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป มีประมาณ 30,400 คนในปี 2560 ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้นำในตลาดนี้อยู่แล้ว ในปี 2559 มีส่วนแบ่งประมาณ 33% (ฐานลูกค้าประมาณ 10,000 ราย) มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM หรือ assets under management) ที่ 7.6 แสนล้านบาท
สำหรับเป้าหมายปี 2560 ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 34% มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 7.7 แสนล้านบาท สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ได้ 0.37% พร้อมตั้งเป้าหมายสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์เป็น 0.5% เทียบเท่ามาตรฐานสากล ภายใน 3 ปี
ผนึกกำลัง Lombard Odier ดึงความเชี่ยวชาญระดับโลก
ยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทยด้าน Private Banking ใช้วิธีจับมือกับ Lombard Odier เพื่ออาศัยประสบการณ์จาก Private Bank ระดับโลกที่ให้บริการลูกค้าทั่วโลกมาก่อนแล้ว เพราะความต้องการของลูกค้า HNWI ทั่วโลกมักมีลักษณะคล้ายๆ กัน แค่ต่างไปในรายละเอียด การได้ประสบการณ์ของ Lombard Odier ที่ทำเรื่องนี้มากว่า 200 ปี ย่อมช่วยให้บุคลากรของธนาคารกสิกรไทยมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ในการให้บริการลูกค้าไทยอย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน
มร. วินเซนต์ แมกนีแนตท์ ผู้อำนวยการบริหาร ธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ เอเชีย เล่าว่า Lombard Odier เป็นธนาคาร private banking รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งในปี 1796 หรือกว่า 200 ปีมาแล้ว สืบทอดธุรกิจกันมา 7 รุ่น ถึงขั้นเคยช่วยซื้อขายม้าให้กับนโปเลียนในยุคสงครามด้วยซ้ำ ผ่านวิกฤตมาแล้วทุกรูปแบบ นับได้กว่า 40 ครั้ง แต่ก็ยังอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ แน่นอนว่ารูปแบบบริการทางการเงินในปัจจุบันย่อมแตกต่างไปจากในอดีต แต่ทาง Lombard Odier ก็ปรับตัวอยู่เสมอ และล่าสุดเพิ่งออกแคมเปญชื่อ Rethink Everything เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนปรับวิธีคิดกันใหม่
ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่าเฟ้นหาพันธมิตรหลายราย สุดท้ายมาลงเอยกับ Lombard Odier นอกจากเสถียรภาพของธุรกิจ และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมายาวนานแล้ว เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ไม่ถูกกดดันเรื่องตัวเลขผลประกอบการจากผู้ถือหุ้น จึงมองประโยชน์ของลูกค้าในระยะยาวได้ดีกว่า และเป็นบริษัทที่มั่นใจได้ว่าพร้อมจะเดินเคียงคู่กับลูกค้าในระยะยาว ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์
วางเป้าหมาย International + Comprehensive
นายจิรวัฒน์ ระบุว่าเป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยในด้าน Private Banking คือคำว่า International Comprehensive Wealth Management Service ซึ่งคำสำคัญคือคำว่า International และ Comprehensive ผ่านบริการ 3 รูปแบบ ได้แก่
- บริการด้านการวางแผนความมั่งคั่งและยั่งยืนของครอบครัว (Wealth Planning Services)
- บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน (Investment Advisory Services) ทั้งภายในและภายนอกตลาดทุน
- สิทธิพิเศษต่าง ๆ ทั้งทางด้านการธนาคารและการลงทุน การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Privileges)
คำว่า International หมายถึงเป้าหมายของธนาคารกสิกรไทย ที่ต้องการให้บริการได้ในระดับเดียวกับธนาคาร private banking ในระดับนานาชาติ ตรงนี้กสิกรไทยใช้วิธีจับมือกับ Lombard Odier เข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องความเชี่ยวชาญ
ในปี 2016 ธนาคารเพิ่งออกกองทุน K Strategic Global Multi-Asset Fund : K-SGM ซึ่งเป็นกองทุนที่ออกโดย บลจ. กสิกรไทย ขายโดยธนาคารกสิกรไทย และบริหารจัดการโดย Lombard Odier โดยสามารถขายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ขั้นถัดไปจะเป็นการบริหารกองทุนให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
ธนาคารยังจัดสัมมนาให้กับลูกค้าเรื่องการลงทุน โดยมีนักเศรษฐศาสตร์จาก Lombard Odier จากฮ่องกงบินมาบรรยาย และเชิญลูกค้าของธนาคารไปที่เจนีวา สำนักงานใหญ่ของ Lombard Odier ด้วย
ส่วนคำว่า Comprehensive คือความครบเครื่องของบริการ นอกจากการบริหารการลงทุนแล้ว ธนาคารยังจะช่วยลูกค้าวางแผนจัดการความมั่งคั่งในรูปแบบต่างๆ เช่น ช่วยบริหารความมั่งคั่งของครอบครัว (family wealth planning) ปรับปรุงระบบกงสีให้ทันสมัย ช่วยวางธรรมนูญครอบครัว วางแผนโครงสร้างการถือครองสินทรัพย์ จัดตั้งสำนักงานครอบครัว และช่วยส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นให้ราบรื่น
ธนาคารยังขยายบริการจากการลงทุนในตลาดทุน (capital market investment) มาเป็นการลงทุนประเภทอื่นๆ ที่อยู่นอกตลาดทุน เช่น ที่ดิน เพราะลูกค้าไทยสะสมที่ดินกันมาก และยังไม่ถูกนำมาบริหารจัดการให้งอกเงยมากนัก นอกจากนี้ยังมีบริการด้าน networking ช่วยสร้างเครือข่ายของลูกค้าระดับเจ้าของธุรกิจ และผู้สืบทอดธุรกิจในรุ่นถัดไป
ธนาคารมองว่าลูกค้ากลุ่ม HNWI กำลังเปลี่ยนรุ่นไปสู่รุ่นใหม่ มีความตื่นตัวเรื่องการสืบทอดธุรกิจขึ้นมาก ซึ่งวัฒนธรรมของคนไทยอาจมองแนวทางการสืบทอดธุรกิจไปยังทายาทแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารไทย ที่เข้าใจลูกค้ามากกว่า private banking ข้ามชาติ ก็ช่วยเข้ามาเติมเต็มความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของตลาด private banking
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา