ติดอาวุธให้องค์กรด้วยทักษะ HR ยุคใหม่กับ “กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” CHRO ของ AIS

HR ไม่ได้คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง แต่สามารถยกระดับองค์กรให้แข็งแกร่งในช่วงวิกฤตได้ ลองมาหาคำตอบเรื่องนี้ไปกับ “กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลกลุ่มบริษัท AIS และ Intouch กัน

brand inside forum

ฟันเฟืองที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัจจุบันโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝั่งผู้บริโภค และภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อใช้ชีวิตในภาวะใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่ง HR สามารถช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่นั่นต้องเริ่มจากการปรับปรุงตัวเองก่อน

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลกลุ่มบริษัท AIS และ Intouch เล่าให้ฟังว่า HR ยุคใหม่ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมองตัวเองเป็นมากกว่าแค่เบื้องหลังขององค์กร เพราะหากพัฒนาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่แปลกที่องค์กรจะเดินหน้าได้ดีขึ้น

ais
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลกลุ่มบริษัท AIS และ Intouch

“เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือองค์กร และต้องไม่ใช่แค่ส้วมตัน หรือปัญหาอื่นๆ ค่อยตามหา HR แต่ต้องตาม HR ทุกครั้งเมื่อประชุมเกี่ยวกับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับกลยุทธ์ ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ HR ต้องยกระดับตัวเองขึ้นมาก่อน”

สื่อสารการเปลี่ยนแปลงให้เข้าใจ

จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของบทบาท HR ในองค์กรต่างๆ เริ่มปรับมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การระบาดของโรค COVID-19 และกระแส Digital Transformation ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม ทำให้การสื่อสารให้องค์กรเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทักษะในการพัฒนาบุคลากรต้องทำให้ดี และทุกคนทั้งยอมรับ และเข้าใจ

hr
Photo : Shutterstock

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แม้จะถูกบังคับให้เกิดขึ้น แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่าองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่า ดังนั้นมันต้องมีการเจ็บปวดกันบ้างเพื่อแลกกับบางสิ่งที่ได้มา ที่สำคัญคือต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เลื่อนลอยต่อไป ทำให้เร็วที่สุดยิ่งดี”

เรื่องแรกที่ HR น่าจะมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนหลังจากนี้คือการปรับองค์กรเป็น Flat Organzation หรือการบริหารจัดการแบบลดลำดับขั้นให้ได้มากที่สุด เพราะนี่คือผลงานจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งหากนำมาใช้ในเวลานี้อาจไม่เหมาะสมนัก แต่การสร้างความเข้าใจให้กับคนในองค์กรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ต้องอาศัยเวลา และความร่วมมือ

work
ภาพโดย Christin Hume จาก Unsplash

สร้างอิสระ แต่ประสิทธิภาพของงานไม่ตก

นอกจากนี้ด้วยการระบาดของ COVID-19 และกระแส Digital Transformation ยังทำให้รูปแบบของการทำงานเปลี่ยนไปเป็น “ทำงานที่ไหนก็ได้” และ “ใครๆ ก็สามารถทำงานได้” ซึ่งสองเรื่องนี้เอง HR มีส่วนช่วยสื่อสารให้กับองค์กรเข้าใจ และทีมบริหารรับรู้ถึงกระแสนี้ เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร

“ปกติแล้วการจ้างงานในองค์กรต่างๆ จะเน้นที่พนักงานประจำ แต่ในยุคใหม่นี้ การจ้างงานแบบไม่ประจำ เช่นทำตามโปรเจค, การ Outsorce ให้พาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญ หรือการร่วมกันจ้างงานกับองค์กรอื่น น่าจะเป็นอีกคำตอบที่ดีที่องค์กรต้องเปิดกว้าง และยอมรับ”

work
ภาพจาก Unsplash โดย Brooke Cagle

ในทางกลับกัน การทำงานที่ไหนก็ได้ หรือ Work form Anywhere ถือเป็นกระแสใหม่ที่หลายองค์กรอาจเข้าใจได้ยาก ดังนั้น HR จึงมีหน้าที่สื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจเรื่องผ่านการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่ชัดเจนของทุกคน เพื่อให้การทำงานจากที่ไหนก็ได้สามารถยกระดับประสิทธิภาพองค์กรได้จริง

นายจ้างต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่แค่การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับฝั่งลูกจ้างอย่างเดียว HR ต้องปรับความคิดการบริหารของฝั่งนายจ้างเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรบุคคลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตอบแทน, ตำแหน่งงาน, การวัดผลต่างๆ หรือความเป็นผู้นำของฝั่งนายจ้างเอง

work
ภาพจาก Shutterstock

“ความเป็นผู้นำของนายจ้างในวิกฤตนั้นสำคัญ เพราะเป็นจุดชี้วัดในการพาองค์กร และพนักงานให้ประคองจนผ่านพ้นเรื่องไม่ดีได้ ซึ่งทักษะความเป็นผู้นำตอนนี้ การยอมเป็นพาร์ทเนอร์ และโค้ชของนายจ้าง หรือหัวหน้าก็จำเป็น ทั้งการยอมเป็นผู้ตามบ้างก็คืออีกทักษะที่ HR ช่วยแนะนำบุคคลเหล่านี้ได้”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ HR ที่เริ่มขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อนขององค์กร แทนที่จะอยู่แค่เบื้องหลัง และหากเดินหน้าตามแผนนี้จนประสบความสำเร็จ องค์กรต่างๆ ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 และวิกฤตอื่นๆ ในอนาคตได้ไม่ยาก ผ่านความคุ้นเคยเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายคือประสิทธิภาพขององค์กร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา