การปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามมอง และยังไม่สามารถหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้โดยเร็ว เพราะปริมาณขยะพลาสติกในแต่ละปีมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล จะมีจำนวนมากกว่าปลาเสียอีก นอกจากนี้กว่า 90% ของนกทะเล มีการกินขยะพลาสติกในรูปแบบต่างๆ เข้าไป ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล มีอันตรายทั้งต่อสัตว์ และคน
Adidas ก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ให้ความสนใจกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเลนี้ด้วยการนำเอาขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล แล้วทำเป็นอุปกรณ์กีฬาใหม่อีกครั้ง โดยร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่าง Parley for the Oceans ตั้งแต่ปี 2015
เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา Adidas สามารถผลิตรองเท้าที่ทำมาจากขยะพลาสติกในทะเลที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 11 ล้านคู่ มากกว่าปี 2018 ถึงสองเท่า และช่วยลดขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลไปได้แล้ว 2,810 ตัน
กระบวนการการนำขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลมาใช้จะเริ่มต้นจาก Parley และองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน จะเป็นผู้เก็บขยะพลาสติกมาส่งให้กับ Adidas และ Adidas จะคัดเลือกพลาสติก PET มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล ส่วนพลาสติกอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะถูกคัดแยกออกไป แล้วนำไปรีไซเคิลแบบปกติแทน
ส่วนขยะพลาสติกที่ใช้งานได้ จะผ่านการทำความสะอาด และทำให้แห้ง จากนั้นจะนำไปตัดให้เป็นขนาดเล็กๆ และหลอมละลายจนกลายเป็นวัสดุคล้าย Polyester ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์กีฬาใน Collection Parley จะผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิล 75% โดยมีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์กีฬารุ่นอื่นๆ ที่ผลิตจากพลาสติกใหม่ โดยเฉพาะรองเท้าที่ต้องมีความสบายในการสวมใส่เท่าเดิม ซึ่งการผลิตอุปกรณ์กีฬาจากขยะพลาสติกรีไซเคิลนี้จะช่วยลดการใช้น้ำ และสารเคมีในกระบวนการผลิตด้วย
เตรียมใช้พลาสติกรีไซเคิล 100%
เป้าหมายของ Adidas ไม่ได้หยุดที่การใช้พลาสติกรีไซเคิลเฉพาะอุปกรณ์กีฬา Collection Parley เท่านั้น เพราะ Adidas ต้องการตั้งเป้าหมายเปลี่ยนไปใช้ Polyester จากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด ภายในปี 2024 โดยในขณะนี้อุปกรณ์กีฬาประเภทเครื่องแต่งกาย ใช้ Polyester รีไซเคิลแล้วประมาณ 40%
อย่างไรก็ตามการใช้อุปกรณ์กีฬาที่ผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิล ก็ยังไม่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ 100% เพราะการซักอุปกรณ์กีฬาที่ทำจาก Polyester จะทำให้เกิด Microfiber ที่สามารถปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อมผ่านน้ำที่ใช้ซักได้
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา