อินเดียส่งมอบเรือดำน้ำชื่อ INS Sindhhuvir พลังงานดีเซลไฟฟ้าชั้น Kilo-class ขนาด 3,000 ตัน ให้แก่เมียนมา ดำน้ำลึก 300 เมตร ความเร็วระดับ 18 น็อตหรือประมาณ 33.34 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรือดำน้ำลำนี้ถือเป็นเรือดำน้ำลำแรกของเมียนมา
เรือดำน้ำลำแรกจากประเทศประชาธิปไตย อินเดียมอบให้เมียนมา
Anurag Srivastava โฆษกกระทรวงต่างประเทศอินเดีย ระบุว่าความร่วมมือในน่านน้ำเป็นส่วนหนึ่งในการขยายความสัมพันธ์กับเมียนมา เรือดำน้ำลำนี้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า UMS Minye Theinkhathu เป็นชื่อเดียวกับวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของเมียนมา
โดยงบประมาณในการนำเข้าอาวุธของเมียนมานับตั้งแต่ปี 2000-2019 มีมูลค่ารวมราว 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.15 แสนล้านบาท มีแหล่งจัดหาอาวุธหลายประเทศ เมียนมานำเข้าอาวุธมากที่สุดคือรัสเซียอยู่ที่ 43% จีน 41% อินเดีย 4% ยูเครน 3% เกาหลีใต้ 2% และประเทศอื่นๆ อีกราว 6% ประเภทของอาวุธประกอบด้วย เครื่องบิน, เครื่องบินรบ, เรือ, รถเกราะ, ขีปนาวุธ และอื่นๆ
ทั้งนี้ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา (เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก เนื่องในโอกาสสนับสนุนการดำเนินงานของกองทัพไทย) เขาระบุว่าเพื่อทำให้กองทัพเรือมีความทันสมัย เราต้องเสริมทัพเข้าไปด้วยเรือดำน้ำ เราพยายามที่จะมีเรือดำน้ำเป็นของตัวเองยาวนานหลายทศวรรษแล้ว
คำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ Harsh Vardhan Shringla รัฐมนตรีต่างประเทศและ Manoj Mukund Naravane ผู้บัญชาการทหารบก อินเดียเยือนเมียนมาเพื่อพบปะ ออง ซาน ซู จี และมิน อ่อง ลาย ช่วง 4-5 ตุลาคมที่ผ่านมา
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล แถมจีนเป็นผู้จัดหาอาวุธอันดับ 2 รองจากรัสเซีย
จีนและเมียนมามีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจมหาศาล วิสาหกิจจีนนำโดย CITIC Group Corporation และ China Harbor Engineering Company ได้ทำสัญญาโครงการใหญ่ๆ บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิ่ว (Kyaukpyu) เฉพาะแค่โครงการท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่วมีมูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.27 แสนล้านบาท ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการสร้างและดำเนินกิจการราว 50 ปี และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 25 ปี การเจรจาว่าด้วยเรื่องจ้าวผิ่วอยู่ภายใต้โครงการข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ถือเป็นโครงการหลักภายใต้ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC)
โครงการจ้าวผิ่วนี้จะสามารถทำให้ขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปยังคุนหมิงเมืองหลวงทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนานของจีนได้มูลค่าราว 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.66 หมื่นล้านบาท ต้นปี 2015 ทั้ง CNPC ของจีนและ Myanmar Oil and Gas Enterprise ก็ส่งก๊าซไปตามท่อก๊าซได้มากถึง 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่น้ำมันสามารถส่งไปยังจีนได้มากถึง 22 ล้านบาร์เรลหรือประมาณ 349.77 ล้านลิตร โครงการดังกล่าวทำให้จีนสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าทั้งน้ำมันและก๊าซจากช่องแคบมะละกาได้มาก
นอกจากจ้าวผิ่วจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนแล้ว ช่องแคบมะละกาก็มีความสำคัญต่อจีนเช่นกัน ทั้งสหรัฐฯ และอินเดียต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้ โลกจึงได้เห็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญจากการฝึกซ้อมรบทางทหารร่วมกันระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซ้อมรบในน่านน้ำหลังจากที่อินเดียมีข้อพิพาทกับจีน
อินเดียหวังสานสัมพันธ์เมียนมา ถ่วงดุลอำนาจจีน
เมียนมาเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพรมแดนติดกับอินเดียในระยะยาวราว 1,600 กิโลเมตร และมีน่านน้ำต่อเนื่องกันราว 725 กิโลเมตรบริเวณรอบอ่าวเบงกอล อินเดียมองว่าเมียนมาคือประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนทางที่จะร่วมมือกันทางเศรษฐกิจผ่านนโยบาย Act East ได้
ด้าน Shamshad Ahmad Khan รองศาสตราจารย์รับเชิญจากสถาบันจีนศึกษาจากนิวเดลี มองว่า การที่อินเดียตัดสินใจมอบเรือดำน้ำให้เมียนมา ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่พยายามจะถ่วงดุลอำนาจจีน อินเดียพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางน่านน้ำแก่เพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกเพื่อถ่วงดุลอำนาจต้านจีน
เป้าหมายที่หวังต้านจีนหรือถ่วงดุลอำนาจจีนของอินเดียโดยการมอบเรือดำน้ำให้เมียนมานี้ เป็นการเดินเกมใหม่ที่จีนเองก็ไม่คิดที่จะสานฝันเมียนมาให้สำเร็จได้ การพ่วงมิตรของอินเดียที่มาพร้อมกับสหรัฐฯ อาจทำให้เมียนมาต้องคิดหนัก แต่ความฝันของเมียนมาก็เป็นจริงแล้ว
ถ้าเทียบอัตราการนำเข้าอาวุธจากอินเดียกับจีน อินเดียมีสัดส่วนอยู่เพียง 4% เท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับจีนที่มากกว่าถึง 10 เท่า การกระชับมิตรดังกล่าวของอินเดียอาจไม่ได้ทำให้เมียนมาหลงลืมจีน แต่การดำเนินนโยบายใดของเมียนมาที่เกี่ยวพันกับจีนและอาจกระทบกับอินเดีย ต่อจากนี้ต้องมีการพิจารณาจากฝั่งเมียนมามากขึ้นกว่าเดิม และยังเป็นสัญญาณที่ดีที่มีมิตรจากประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแสดงตัวเป็นมิตรต่อเมียนมาอย่างชัดเจนมากขึ้น
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกค่อยๆ หันหลังให้จีนและสามัคคีกันบอยคอตต์ประเทศที่ดำเนินนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ทั้งการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การคุกคามชนกลุ่มน้อย เช่นชาวโรฮิงยา ฯลฯ การร่วมซ้อมรบทางทหารในมหาสมุทรอินเดียกับสหรัฐฯ อาจทำให้เมียนมาเรียนรู้และพิจารณาดำเนินโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยลงและหันเข้าหาประเทศฝั่งประชาธิปไตยมากขึ้น
ที่มา – Nikkei Asia, BBC, China, The Irrawaddy, CSIS, Times of India, Financial Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา