สถานการณ์โควิด-19 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แม้จะเป็นวิกฤตแต่ยังมีโอกาสสำหรับบริษัทญี่ปุ่น ที่ใช้โอกาสนี้ในการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน กลับมายังญี่ปุ่น
Iris Ohyama ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตสินค้าที่เลือกย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนกลับมายังประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ที่มีโครงการให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตกลับมาในประเทศ และได้รับเครื่องหมาย Made in Japan โดยสินค้าของ Iris Ohyama ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ หน้ากากอนามัย
โดยในปีนี้ Iris Ohyama คาดการณ์ว่าจะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 700 ล้านเยน หรือประมาณ 209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีรายได้ 500 ล้านเยน หรือประมาณ 149 ล้านบาท แม้จะต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ Iris Ohyama มาจากต่างประเทศ 30% และมีแนวโน้มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรม e-Commerce ที่เติบโต รวมถึงการขยายฐานการผลิตไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตสินค้าประเภท หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
การกระจายฐานการผลิตไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีนด้วยเช่นกัน
Iris Ohyama บริษัทที่สร้างความได้เปรียบจากความเล็ก
แม้ว่า Iris Ohyama จะมีโรงงานตั้งอยู่ทั้งในประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา แต่ความจริงแล้ว Iris Ohyama ก็ยังไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่แต่อย่างใด ย้อนกลับไปในปี 2009 Iris Ohyama เริ่มหันมาผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แทนที่จะผลิตเพียงสินค้าที่เกี่ยวกับพลาสติกเพียงอย่างเดียว
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ Iris Ohyama ใช้ เพื่อขยายการเติบโต คือ การดึงตัววิศวกรจากบริษัทใหญ่ๆ ทั้ง Panasonic และ Sharp ที่ถูกปลดออกมา จากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างบริษัทญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่มีความรุนแรง
รวมถึงยังมีการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เป็นประจำทุกๆ วันจันทร์ ซึ่งข้อดีของการเป็นบริษัทเล็กๆ คือ ไม่มีความกดดันของผู้ถือหุ้น และนักลงทุนที่คอยสร้างความกดดัน ทำให้ในแต่ละปี Iris Ohyama สามารถเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ได้ถึง 1,000 รายการ
ดีไซน์เรียบ ราคาไม่แพง คือสูตรสำเร็จมัดใจลูกค้า
Akihiro Ohyama หนึ่งในผู้บริหารของ Iris Ohyama เล่าว่า ดีไซน์เรียบๆ และราคาสินค้าที่คุ้มค่า ไม่แพง ยังคงเป็นสูตรสำเร็จของหลายๆ บริษัท เช่น Nitori Holding แบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และ Uniqlo แบรนด์ผู้ผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion
อย่างไรก็ตามปัญหาอย่างหนึ่งของบริษัทที่กำลังเติบโตอย่าง Iris Ohyama คือ จำนวนพนักงานที่มีจำนวนน้อย บริษัทกำลังเติบโต แต่จำนวนพนักงานยังไม่เพียงพอ เทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง ที่มีพนักงานกว่า 13,000 คน และกำลังจะจ้างพนักงานเพิ่มอีก 640 คน ในปีหน้า
ที่มา – Japantoday
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา