Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเลือกเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นสองประเทศแรกของโลก หลังจากขึ้นรับตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศ
ญี่ปุ่นเดินหน้ากระจายแหล่ง Supply Chain ในอาเซียนมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Yoshihide Suga เริ่มหาทางกระจายแหล่ง supply chain ให้บริษัทญี่ปุ่นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นและลดอิทธิพลจีนที่กำลังแผ่ขยายทั่วภูมิภาคนี้มากขึ้น โดย Suga กล่าวว่าญี่ปุ่นจะขยายความร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้นเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับสภาวะเศรษฐกิจให้มากกว่าเดิม
ทั้งนี้ Suga เลือกที่จะเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นทริปแรกสะท้อนให้เห็นการชูนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรหลัก พันธมิตรเดิมที่สำคัญของญี่ปุ่น และสะท้อนให้เห็นการทูตญี่ปุ่นในยุค Suga ที่จะให้ความสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับชาติสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ลดบทบาทจีนลง ผ่านถ้อยแถลงของเขาที่ระบุว่า ญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการทวีความตึงเครียดอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้
แม้ Suga จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศจีนออกมาอย่างเปิดเผยแต่ก็ส่งสัญญาณกับเหล่าสมาชิกอาเซียนว่าจะให้ความมร่วมมือด้านความมั่นคงน่านน้ำเพื่อเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น
ข้อมูลการค้าอาเซียนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามีการพึ่งพาจีนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มูลค่าการค้ารวมเติบโตมากจาก 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2009 เป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 สัดส่วนจีนก็เพิ่มจาก 11.6% เป็น 18% เช่นกัน
นอกจากนี้ จีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนทะเลจีนใต้ทำให้เกิดข้อพิพาททางพรมแดนขึันเมื่อจีนสร้างเกาะเทียมและสร้างป้อมปราการทางทหารในบริเวณดังกล่าว แม้ในขณะเดียวกันจีนก็มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับอาเซียนอย่างเข้มข้นก็ตาม
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรือจีนก็ยิงและจมเรือเวียดนามด้วย ส่วนอินโดนีเซียนั้นมี GDP เป็น 40% ของอาเซียน และมีความสัมพันธ์กับจีนแบบรักษาระยะเช่นกัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อินโดฯ ก็ส่งจดหมายถึง Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติถึงประเด็นเส้นประเก้าเส้น (nine-dash line) ที่เป็นเส้นประที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นพรมแดนของจีนนั้น อินโดฯ ระบุว่าไม่ได้มีหลักฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ รับรอง
กระชับความสัมพันธ์ชาติสมาชิกอาเซียน ขยายความร่วมมือความมั่นคง ลดอิทธิพลจีน
นายกรัฐมนตรี Suga กล่าวว่า ผมอยากจะเน้นย้ำถึงความสำคัญกับภาคีทุกฝ่ายให้ตระหนักถึงประเด็นทะเลจีนใต้ที่จะต้องแก้ปัญหาข้อพิพาทด้วยสันติภาพและกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่าจะใช้กำลังบีบบังคับเพื่อยุติปัญหานี้
แม้ว่าอาเซียนจะมีการค้ากับญี่ปุ่นน้อยกว่าจีน แต่ญี่ปุ่นก็ตั้งฐานการผลิตหลากหลายแห่งในภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ญี่ปุ่นต้องการจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับชาติสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพาจีนที่มากเกินไป และยังขยายโครงการอุดหนุนบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลายที่ยังพึ่งพาจีนอยู่ให้กระจายแหล่งผลิตมากขึ้นในอาเซียน
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe และรัฐมนตรีต่างประเทศ Toshimitsu Motegi เพิ่งจะเยือนอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นั่นก็คือสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งสองประเทศมีจุดยืนที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในประเด็นทะเลจีนใต้ (แต่ล่าสุดความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจีนแน่นแฟ้นมากขึ้น จุดยืนดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้) นอกจากนี้ ประเทศที่สนับสนุนจีนชัดเจนคือเมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่ง Motegi ได้รับมอบหมายจาก Suga ที่ต้องให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ต่อไป
จีนก็พยายามสานสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียนเช่นกัน เห็นได้จากการพยายามให้ความสนับสนุนด้านเศรษบกิจ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีนก็เพิ่งเยือนกัมพูชา มาเลเซีย ลาว ไทย และสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในเดือนนี้
หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำสูงสุด G7 และจะเชื้อเชิญ Suga เข้าร่วมประชุมด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีการประชุมแบบพบปะกันน้อยลงและเน้นด้านออนไลน์แทนเพื่อป้องกันโควิด-19 อาจจะได้เห็นการทูตแบบพบปะกันอีกคราวในปีหน้า
ญี่ปุ่นเยือนอินโดนีเซียล่าสุดนั้น เตรียมให้มีการเดินทางธุรกิจร่วมกันอีกหลังจากที่ให้ความช่วยเหลือกันมามากแล้วในช่วงที่วิกฤตโควิดระบาดหนัก ญี่ปุ่นปล่อยเงินกู้ให้อินโดนีเซียมากถึง 470 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันก็เตรียมยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกันด้วย โดยการพบปะกันระหว่าง Yoshihide Suga และ Jokowi นั้น มีเป้าหมายในด้านธุรกิจคือการพยายามลดระยะเวลาในการกักกันโรคและให้สามารถเดินทางเพื่อทำธุรกิจในระยะสั้นได้ด้วย ในด้านความมั่นคงก็เตรียมหารือในระดับรัฐมนตรีความมั่นคงและรัฐมนตรีต่างประเทศหรือกรอบการประชุม 2+2 ของทั้งสองฝ่ายเพื่อถ่ายโอนเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กัน
เมื่อปี 2015 ทั้งอินโดนีเซียและญี่ปุ่นได้ประชุมกันครั้งสุดท้ายไป และเห็นพ้องว่าจะยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้มากขึ้นขณะที่จีนก็พยายามแสดงบทบาทในน่านน้ำนี้เพิ่มขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา