โควิด-19 ลุกลามบานปลายสร้างสถานการณ์ความไม่คงทางเศรษฐกิจ นำสู่ปัญหาการจ้างงาน และความท้าทายในการทำธุรกิจ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
ภาระอันหนักหน่วงจึงตกเป็นของ CEO หรือผู้บริหารขององค์กร ที่จะต้องมีความเป็นผู้นำ พาองค์กรรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ แต่บทบาทความเป็นผู้นำคงทำในรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะในยุคนี้ใครๆ ก็ต้องรู้จักปรับตัว โดยบทบาทของ CEO ในฐานะผู้นำองค์กร จะต้องกล้าตัดสินใจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งระยะสั้น และระยะยาว
ซึ่ง CEO ที่ดี จะไม่มองว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ เป็นอุปสรรค แต่จะมองว่าเป็นความท้าทายใหม่ๆ และเป็นโอกาสอันดีที่องค์กรจะได้ปรับตัว CEO บางคนถึงขนาดมองว่าสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นเหมือนความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
ปรับตัวให้เป็น บทบาทของ CEO ยุคใหม่ที่ควรทำ
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ องค์กร รู้จักปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้
เช่น โรงพยาบาล Cincinnati Children’s Hospital Medical Center (CCHMC) สามารถเพิ่มอัตราการตรวจคนไข้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จากเดิม 2,000 เคส ในปี 2019 เพิ่มเป็น 5,000 เคส ต่อสัปดาห์
บริษัทผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ในดูไบ ที่เปลี่ยนพนักงานดูแลโรงภาพยนตร์ ให้กลายเป็นพนักงานที่สนับสนุนการขายของซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ภายในเวลาเพียง 2 วัน หรือ Unilever เปลี่ยนสายการผลิตผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย เป็นสายการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น
ในภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ผลักดันให้การทำธุรกิจ และอุตสาหกรรม เกิดการปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาปกติอาจไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ แต่ต้องอาศัยเวลามากกว่านี้
บริหารจัดการเวลาให้เป็น แต่ไม่ใช่ทำงานตลอดเวลา
แน่นอนว่าการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ ในช่วงเวลาอันสั้น ต้องใช้ความพยายามในการทำงานมากกว่าปกติ เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ในเวลาอันสั้น การบริหารเวลาจึงเป็นหน้าที่สำคัญของ CEO แต่ไม่ใช่ว่า การทำงานหนักกว่าปกติ จะหมายถึงการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีเวลาพักผ่อน
จริงๆ แล้วการแบ่งเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน พนักงานหลายๆ คน ได้รับความกดดันในการทำงาน จึงอาศัยโอกาสที่ได้ทำงานที่บ้าน นำเอาเวลาที่ไม่ต้องใช้ไปกับการเดินทางมาใช้กับการทำงาน บางคนอาจทำงานได้มากขึ้นหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก CEO ที่ดีจึงควรรู้จักบริหารจัดการเวลาทั้งของตัวเอง และคนทำงานคนอื่นๆ
ส่วนตัว CEO เอง บางคนก็อาศัยช่วงเวลาที่ไม่ต้องเดินทางด้วยการนั่งเครื่องบินข้ามประเทศ เพื่อให้ได้ชั่วโมงการทำงานเพิ่มเติม CEO บางคน จึงเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเวลาของตัวเองใหม่ ด้วยการกำหนดช่วงเวลาการเดินทาง ให้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานมากเกินไป
สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทำงาน
ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร เพื่อหาทางรอดจากวิกฤตในครั้งนี้แล้ว CEO ควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน รับฟังความคิดเห็น ในช่วงเวลาที่พนักงานต้องการความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งจะได้ผลในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานในระยะยาว
หนึ่งในสิ่งที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพนักงานได้ นั่นคือ การสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมิตร และเข้าถึงง่าย Deanna Muligan CEO ของ Guardian เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เขาเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายใหม่ ด้วยภาพลักษณ์สบายๆ แทนที่จะแต่งกายด้วยชุดทางการ ผลลัพธ์ที่ได้คือ พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น
ไม่ได้ทำเพื่อผู้ถือหุ้น หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว
แน่นอนว่าในสถานการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง สร้างความไม่แน่นอนให้กับการทำธุรกิจ การหวังผลกำไร ที่ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าลืมว่าการทำธุรกิจยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก นอกเหนือจากผลกำไร นั่นคือการเป็นผู้ให้ ทั้งให้ความมั่นใจกับพนักงาน ว่าจะมีความมั่นคง มีรายได้เช่นเดิมในช่วงเวลาหลายๆ เดือนข้างหน้า
ส่วนการให้อีกอย่าง คือการให้กับสังคม ในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์กรหลายๆ แห่ง จึงเลือกที่จะบริจาคอุปกรณ์ หรือสินค้าที่มีความจำเป็น ให้กับคนในสังคม
ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความเป็นผู้นำ
การเป็น CEO มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ การรู้จักคนจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดาคนที่เป็น CEO เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลานี้จึงควรใช้เป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือ แบ่งปันประสบการณ์ และไอเดียระหว่างกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
เพราะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นเหมือนการทดลองทฤษฎีการแก้ไขปัญหา ที่แตกต่างกันไป โดยอาจได้วิธีที่ได้ผลจากสิ่งที่ CEO คนอื่นๆ เคยทดลองทำแล้วประสบความสำเร็จ
การปรับตัวของ CEO ไม่ได้มีแค่ 5 วิธี
ความจริงแล้วการปรับตัวของบุคคลที่เป็นผู้นำ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง 5 วิธีข้างต้นนี้เท่านั้น การเป็นผู้นำยังมีวิธีปรับตัวที่หลากหลาย ตามบริบทการทำงานของแต่ละองค์กร ที่จะมีความแตกต่างกันไป
ถ้าอยากรู้ว่าการปรับตัวของคนที่เป็นผู้นำทำอย่างไรบ้าง ชวนมาหาคำตอบกันได้ที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce “ทิศทางการทำงานในอนาคต ตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น” ที่กำลังจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ ซึ่งจะมีอีกหลากหลายวิธีการปรับตัว การเป็นผู้นำในยุคสมัยใหม่ จากผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญในหลายองค์กร
สามารถซื้อบัตรผ่าน Event Pop ได้ที่ >> http://go.eventpop.me/Brandinsideforum2020 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: forum@brandinside.asia
ที่มา – McKinsey
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา