สำรวจตลาดแรงงานไทย กับ 5 ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงการบริหารคนทั่วโลก (1)

หลายปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั่วโลกและในไทยคือเรื่องของคน ทั้งการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล คนกลุ่มที่เป็น Gen Y และ Z กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ขณะที่ Gen B กำลังทยอยออกจากตลาดแรงงานหลัก และยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบอีกมาก

Brand Inside ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผอ.หลักสูตรการบริหารงานบุคคล แห่งสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารคน ที่ชี้ให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกและของไทยได้อย่างชัดเจน

รูปจาก pixabay.com

HR งานกลยุทธ์หลักพัฒนาองค์กร

ดร.ศิริยุพา บอกว่า ปัจจุบัน HR กลายเป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรไปแล้ว การวางแผนเรื่องคน ต้องมีการกำหนดให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ ต้องมองล่วงหน้าอย่างน้อย 3-5 ปีว่าต้องการบุคลากรด้านใด จะหาจากที่ใด หรืออาจต้องลงไปร่วมพัฒนากับสถาบันการศึกษา นี่คือเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าธุรกิจกำลังเดินหน้าแต่ขาดคนมาขับเคลื่อน ทุกอย่างก็จบ

นอกจากนี้ ถ้าองค์กรใดทั้งรัฐและเอกชน ที่ยังเน้นกับเรื่อง AEC ยังแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ล้าสมัย เชยและแคบเกินไป เพราะตอนนี้แค่ AEC คงไม่เพียงพอ แต่ต้องมองระดับโลก ในยุคดิจิทัลที่พรมแดนทางเศรษฐกิจและสังคมถูกทำลายไปแล้ว ทุกสิ่งมีผลกระทบถึงกันหมด เช่น ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกามีนโยบายทาง การเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ก็มีผลกับประเทศเล็กๆ แบบไทยเช่นกัน

ดังนั้น องค์กรต้องให้ความสำคัญกับงานบริหารบุคคล ที่ไม่ใช่แค่งานธุรการแบบเดิม ต้องวางแผนล่วงหน้าให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ และต้องมองให้กว้างระดับโลก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่องานบริหารบุคคล มี 5 ประการด้วยกัน

 

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผอ.หลักสูตรการบริหารงานบุคคล แห่งสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5 ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงงานบริหารคนทั่วโลก

1. Globalization 2.0 – คำนี้สะท้อนถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่ย้ายมาอยู่ฝั่งซีกโลกตะวันออก โดยมีประเทศแกนนำสำคัญ เช่น จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอาเซียน เมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจมาอยู่ทางนี้ งานและแรงงานจากทั่วโลกจะมีเป้าหมายมาที่นี่ โดยเฉพาะอาเซียน ที่น่าดึงดูดใจอันดับต้นๆ ของโลก เป็นความเปลี่ยนแปลงที่องค์กรเล็กและใหญ่ในไทยต้องเตรียมรับมือ

2. Diffusion of power – การแพร่กระจายของอำนาจ ต่อเนื่องจากข้อแรกเป็นผลให้แรงงานต่างประเทศจะมีความเคลื่อนตัวอย่างสูง ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดีประเทศจะเสียประโยชน์แน่นอน อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าในด้านการลงทุน อาเซียน ดึงดูดใจอันดับต้นๆ ของโลก แต่ไทย ดึงดูดใจน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากปัจจัยด้านการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ

3. Demographic change – ความเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกที่กำลังเข้าสู่ยุค Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ และไทยก็ติดประเทศอันดับต้นๆ ที่จะเปลี่ยนตามหลังญี่ปุ่น (ที่เป็นแล้ว) นั่นคือ มีประชากรที่อายุ 60 ขึ้นไปเกิน 30% กลุ่มคนรุ่นใหม่ แรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจะลดน้อยลง การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ นี่คือสิ่งที่ตลาดแรงงานไทยจะเจอ

4. Environmental Crisis – ภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการบริหารคน ทุกวันนี้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยขึ้น ปีละหลายหน และทำให้บริษัทใหญ่ๆ ต้องวางแผนธุรกิจใหม่ อาจมีการย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีจากพื้นที่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แรงงานเปลี่ยนแปลง การบริหารคนก็เช่นเดียวกัน และไทยก็อยู่ในกลุ่มที่มีผลนี้ด้วย

5. Technological Convergence – นี่คือสิ่งที่ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมการทำงานเปลี่ยนไป เมื่อการทำงานที่ออฟฟิศแบบ 9 to 5 หรือ 9โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป มีตำแหน่งงานหลายประเภทที่ไม่ต้องยึดติดกับเวลาและสถานที่ ดังนั้นองค์กรต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยน สร้างความยืดหยุ่นให้มากขึ้น

รูปจาก pixabay.com

ความเปลี่ยนแปลงทั้ง 5 ส่วนนี้ ส่งผลอย่างมากต่อตลาดแรงงาน และการบริหารงานคน ซึ่งองค์กรต้องตั้งเตรียมความพร้อมให้ดี นี่เป็นเพียงตอนที่ 1 ที่ว่าถึงปัจจัยในระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง และส่งผลถึงประเทศไทย ยังมีเรื่องของการบริหารงานคน และตลาดแรงงานที่น่าสนใจตามมาอีก โปรดติดตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา