การทำงานที่บ้าน (Work From Home) ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องที่คนบางส่วนเคยชินไปแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ บริษัทบางแห่งถึงกับขนาดประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านถาวร
ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายบริษัทเคยมีการทดลองให้พนักงานทำงานที่บ้านมาแล้ว อย่าง Ctrip บริษัทด้านการท่องเที่ยวในประเทศจีน ทำการทดลองให้พนักงานทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลานาน 2 ปี และพบว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ 13% และช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้ถึง 50%
ทำงานที่บ้าน ไม่ได้สร้างประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเสมอไป
แต่ความจริงแล้ว ผลการทดลองของ Ctrip อาจไม่ได้สะท้อนความจริงในการทำงานที่บ้าน เพราะ Nicholas Bloom อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Stanford เล่าว่า การทำงานที่บ้านให้ได้ประสิทธิภาพดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก นั่นคือ พื้นที่ทำงานภายในบ้าน ความเป็นส่วนตัว และความสงบระหว่างการทำงาน
การทดลองให้พนักงานทำงานที่บ้านของ Ctrip จะคัดเลือกพนักงานที่มีห้องทำงานภายในบ้าน โดยห้องนั้นต้องไม่ใช่ห้องนอน ในระหว่างวันจะไม่มีการอนุญาตให้สมาชิกคนอื่นๆ ภายในบ้านเข้ามาภายในห้องทำงานเด็ดขาด
แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การทำงานที่บ้านมีความต่างจากการทดลองของ Ctrip หลายๆ คน มีลูกเล็กที่ต้องดูแล นั่งทำงานภายในห้องนอน ไม่มีห้องส่วนตัว ต้องแชร์ห้องกับคนอื่น ทำให้มีสิ่งที่รบกวนการทำงาน
นอกจากนี้การไม่ได้ไปทำงานแบบเจอหน้ากันที่สำนักงาน ยังลดการมีส่วนร่วม ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการประชุมงานแบบ Face-to-Face ที่มีความสำคัญ ในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาไอเดีย และสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน
ทำงานที่บ้านนานๆ สุขภาพจิตไม่ดี เหมือนคนไม่ได้ทำงาน
การทำงานที่บ้าน แน่นอนว่าหมายถึงการไม่ได้พบปะกับคนอื่นๆ เหมือนในช่วงเวลาปกติ ซึ่งจะนำไปสู่ความเครียด
จากการทดลองของ Ctrip หลังจากที่ให้พนักงานทำงานที่บ้านเป็นเวลา 9 เดือน พนักงานกว่า 50% อยากกลับไปทำงานที่ทำงานตามปกติ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางเฉลี่ยกว่า 40 นาทีก็ตาม เมื่อถามถึงเหตุผลจึงทราบว่า ความเหงา และความเครียด คือตัวการสำคัญ
เช่นเดียวกันกับการศึกษาสภาพจิตใจของคนที่เกษียณอายุ อยู่บ้านเฉยๆ และไม่ได้ทำงาน ที่พบว่าส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้จะมีสุขภาพจิตที่แย่ลงเช่นกัน
ยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบางประเทศยังคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อยู่ ทำให้กิจกรรมสันทนาการบางอย่างไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะกิจกรรมนอกบ้าน ที่ต้องมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างความเครียดให้กับคนที่ต้องทำงานที่บ้านในช่วงนี้
ไม่ใช่ทุกๆ คน ที่พร้อมทำงานที่บ้าน
จากการศึกษาของ Atlanta Federal Reserve และมหาวิทยาลัย Chicago พบว่า ชาวอเมริกัน 65% เท่านั้น ที่มีระบบอินเตอร์เน็ต ที่เร็วพอจนสามารถรองรับการประชุมผ่าน VDO Call ได้
50% ของชาวอเมริกันมองว่า ตัวเองสามารถนำงานกลับมาทำงานที่บ้านได้ ด้วยคอมพิวเตอร์ โดยมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า 80%
ในทางตรงกันข้าม ไม่ใช่ทุกๆ คน จะสามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะมีเพียงคนที่จบการศึกษาสูงๆ มีเงินเดือนดีๆ เท่านั้น ที่จะสามารถทำงานที่บ้านได้ ได้รับการจ่ายเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง และสามารถะพัฒนาทักษะของตัวเองได้ แม้จะทำงานจากที่บ้านก็ตาม
ในขณะที่คนบางกลุ่ม ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้เลย เพราะลักษณะงานที่ทำ ไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตที่ดีพอ และไม่ได้มีพื้นที่ๆ จะทำงานที่บ้านได้อย่างเหมาะสม คนเหล่านี้ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากการไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
แน่นอนว่าปัญหาของการทำงานที่บ้านที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากการปรับตัวของพนักงาน ที่ยังไม่เคยชินกับการทำงานในรูปแบบใหม่ หน้าที่สำคัญจึงตกเป็นของผู้ที่มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ต้องคิดหาวิธี ที่จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุขมากที่สุด
ถ้าอยากรู้ว่า วิธีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร มีวิธีใดบ้าง ชวนมาที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce “ทิศทางการทำงานในอนาคต ตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น” ที่กำลังจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์
พร้อมฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัวในการทำงาน การบริหารองค์กรอย่างไร ให้ตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น โดยสามารถซื้อบัตรผ่าน Event Pop ได้ที่ >> http://go.eventpop.me/Brandinsideforum2020 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: forum@brandinside.asia
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา