การทำงานตามสั่งกำลังตกยุค? วิถีองค์กรยุคใหม่คือการสอนให้คนคิดเป็น มีอิสระในการทำงาน

วิถีปฏิบัติที่ทำสืบทอดต่อๆ กันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นวัฒนธรรมในองค์กรนั้น แต่ละองค์กรก็มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน และยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมให้ผู้คนภายในองค์กรมีบุคลิก ไลฟ์สไตล์ วิธีคิด และวิธีปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นที่แตกต่างกันด้วย

โควิดทำวิถีองค์กรเปลี่ยน จากเดิมที่เคยถูกบอสไล่จี้ กลายเป็นต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างกันมากขึ้น

วัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าหรือที่ถูกเรียกกันว่าเป็นการจัดการแบบ Old-School ในโลกที่ก้าวข้ามยุคโควิดมาแล้ว (ก้าวข้ามยุคโควิดมาแล้วในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าขจัดโควิดให้หมดไปได้ แต่หมายความว่าโลกได้ผ่านช่วงที่มีการระบาดของโควิดอย่างหนักหน่วง จนเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับโควิดอย่างไร) การทำงานระยะไกล (Remote work) หรือการทำงานจากบ้าน (Work from home) จึงเริ่มกลายเป็นวิถีชีวิตที่คนเริ่มคุ้นชินมากขึ้น 

ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหม่ๆ ในช่วงต้น เราจะเห็นว่า งานที่ไม่คาดคิดว่าจะสามารถหอบกลับมาทำที่บ้านได้ เช่น งานราชการที่มีเอกสารกองโตท่วมหัว จนไม่สามารถขยับบุคลากรไปไหนได้ เมื่อมีความเสี่ยงจากโรคระบาดเข้มข้นมากขึ้น ก็ทำให้คนและองค์กรรู้จักปรับตัวที่จะคิดหาวิธีทำงานจากบ้านจนได้ 

ดังนั้น งานออนไลน์ งานฟรีแลนซ์ จึงไม่ใช่วิถีเดิมๆ ที่มีแต่คนทำงานในรูปแบบเดิมๆ สามารถทำงานระยะไกลได้อีกต่อไป แต่งานประเภทอื่นก็เริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวมากขึ้นด้วย 

ภาพจาก Shutterstock

เมื่อวิถีการทำงานทางไกลได้รับความนิยมมากขึ้น คนที่อยู่ภายในองค์กรจึงสามารถปรับตัวจากการทำงานที่ต้องอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลจากหัวหน้า บอส ผู้อำนวยการ หรือเหล่าผู้บังคับบัญชาได้มากขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ วิธีคิดที่บุคลากรภายใต้หัวโขนระดับผู้จัดการขึ้นไป อาจจะไม่สามารถใช้ mindset เก่าๆ ในการควบคุมว่าพนักงานคนใดจะต้องทำงานแบบไหน ไม่ควรทำงานแบบใด คล้ายเด็กเล็กที่ต้องถูกควบคุมหรือสอดส่องตลอดเวลาอีกต่อไป วิธีคิดแบบนี้จะเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ความรับผิดชอบของพนักงานจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแลกกับอิสรภาพจากการถูกสอดส่องของระดับผู้จัดการที่ค่อยๆ เลือนหายไป 

แน่นอนว่า วิถีการสอดส่องดูแลพนักงานที่มานั่งรวมตัวกันในออฟฟิศใดออฟฟิศหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยมีผู้บังคับบัญชานั่งรวมหมู่ทำงานร่วมด้วยอาจจะเบาบางลง แต่โลกแห่งองค์กรก็ยังมีวิธีจัดการผู้คนแบบใหม่ นั่นคือ วิถีแห่งการรายงาน 

Work

วิถีแห่งการรายงาน คือการสะท้อนความโปร่งใส สร้างความเสมอภาคระหว่างชนชั้นในองค์กรมากขึ้น

ความโปร่งใสจากการทำงานแต่ละหน้าที่ การเปิดเผยให้เห็นว่าแต่ละช่วงเวลา ของบุคลากรแต่ละคนว่าทำงานอะไรไปบ้าง รับหน้าที่ไหน มีงานเท่าไรที่ต้องจัดการอยู่ในมือ จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างผู้คนมากขึ้น ทั้งในแง่ของผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมอยู่ในทีมเดียวกัน และยังสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้บังคับบัญชามากยิ่งขึ้นเพราะช่วยคลายความกังวล เมื่อรู้ว่าสมาชิกภายในองค์กรที่อยู่ภายในความดูแลยังรับผิดชอบหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ต้องคอยชี้นิ้วตามสั่งแบบเดิมอีกต่อไป

แน่นอนว่า Flat hierarchy หรือการทำให้ระดับชนชั้นในองค์กรมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น อาจเป็นสิ่งที่หลายคนฝันใฝ่และคาดหวังจะให้เป็นไปตามนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงก็มีองค์กรที่ไร้บอส ไม่มีการทำงานตามสั่ง ไม่ต้องรายงานกันและกันว่าแต่ละคนทำงานหรือรับผิดชอบอะไรอยู่บ้าง เช่น บริษัทที่พัฒนาเกมคอมพิวเตอร์อย่าง บริษัท Valve หรือวาล์วคอร์ปอเรชัน ก็เคยมีข้อมูลรั่วไหลว่า องค์กรวาล์วมีวัฒนธรรม “no boss” อยู่จริง 

work
ภาพจาก Unsplash โดย Brooke Cagle

หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฎว่า วัฒนธรรมดังกล่าวในบริษัทวาล์วฯ ได้เลือนหายไปแล้ว องค์กรไร้บอส เป็นเพียงความกลวงเปล่า ลวงหลอก ไม่มีอยู่จริง แต่กลับมีวัฒนธรรมจัดการคนที่ซับซ้อนกว่านั้นและมีการออกมาเปิดโปงข้อมูลที่สะท้อนภาพชัดเจนขึ้น เช่น แนวคิดของการเป็นส่วนหนึ่งหรือใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมากที่สุด เพียงเพื่อให้ตัวเองได้มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น แน่นอนว่า กรณีนี้เข้าข่ายระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คนไทยค่อนข้างคุ้นชินเช่นกัน

คนในวาล์วคอร์ปอเรชันเล่าว่า แม้ว่าจะมีผู้คนในองค์กรพยายามทุ่มเททำงานอย่างหนัก อุทิศตนอย่างแสนสาหัสเพียงใด หรือมี productivity ในการทำงานมากเพียงใด ถ้าเพียงแค่มีบุคคลใกล้ชิดผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในองค์กรไม่พอใจในตัวบุคลากรนั้นๆ ก็สามารถกระเด็นหลุดจากตำแหน่งได้ หรือกีดขวางการทำงานได้ หรือมีการตัดสินใจที่มีทิศทางโน้มเอียงไปให้กับผู้ที่มีอำนาจใกล้ชิดกว่า เป็นต้น

นี่ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่คนในองค์กรวาล์วฯ สะท้อนให้เห็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งในองค์กรที่หากจะพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดในภาษาที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คือการเมืองภายในองค์กรนั่นเอง เป็นการแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ทั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์หรืออำนาจไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งที่จะพ่วงมากับความสนิทชิดเชื้อดังกล่าวทั้งผู้ให้การอุปถัมภ์และผู้ได้รับความค้ำจุนนั้นๆ  

Workplace

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หนทางที่จะช่วยบรรเทาโรคการเมืองภายในองค์กร โรค Bossy ที่มีเจ้านายจุกจิกจู้จี้คอยตามเป็นเงาทุกย่างก้าวที่คนทำงานต้องพบเจอก็คือ การทำตัวเองให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ รายงานทุกความคืบหน้าของผลจากการปฏิบัติหน้าที่และเผยให้เห็นความรับผิดชอบที่มีอยู่จริง ก็จะช่วยเป็นกำแพงป้องกันให้บุคลากรทำงานได้อย่างไม่ต้องมีใครข้องใจ ติดใจสงสัยในความรับผิดชอบ และยังทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างชนชั้นในองค์กรมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อบรรดาผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีการทำงานที่หลงทิศหลงทางอยู่บ้าง ก็เพียงแต่ชี้แนะ ไกด์แนวทางแก่พนักงานก็จะช่วยป้องกันความพร่าเลือนจากความไม่รู้ และความไม่เข้าใจทิศทางการทำงานได้บ้างไม่มากก็น้อย ในแง่นี้ ถ้าเพียงแต่เริ่มทำงานถูกทางกันตั้งแต่เริ่มต้น หรืออาจจะมีสับสนบ้างในกลางทาง ก็จะช่วยให้องค์กรทำงานเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ความอิสระจากการทำงานก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้คนสร้างสรรค์ผลงานที่ฉีกแนวไปจากทิศทางขององค์กรในแบบเดิมมากขึ้นเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเทรนด์ส่วนหนึ่งในการทำงานเท่านั้น แต่ในงาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce “ทิศทางการทำงานในอนาคต ตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น” ที่กำลังจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ (mrt สามย่าน) ยังมีอีกหลากเรื่องราวเกี่ยวกับคน องค์กร และงานที่สามารถเรียนรู้ได้

สามารถซื้อบัตรผ่าน Event Pop ได้ที่ >> http://go.eventpop.me/Brandinsideforum2020 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: forum@brandinside.asia

ที่มา – The Next Web, Forbes, The Guardian 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา