การดำเนินธุรกิจมา 30 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ AIS ผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งไทย และอาเซียน ได้ก้าวผ่านจุดนี้ ดังนั้นลองมาติดตามกันว่าการก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของ AIS จะประกอบด้วยกลยุทธ์อะไรบ้าง
5G คืออนาคตของอุตสาหกรรม
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เล่าให้ฟังว่า แผนแรกในการเข้าสู่ปีที่ 30 ของบริษัทคือการให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ หรือทั้งฝั่งผู้บริโภคทั่วไป และฝั่งการใช้งานในระดับองค์กรต่างๆ เพราะเทคโนโลยี 5G ช่วยยกระดับการใช้งานของทั้งสองฝั่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในมุมการใช้งานของลูกค้า AIS เทคโนโลยี 5G จะทำให้ความเร็วสูงสุดทำได้ 1 Gbps มากกว่า 4G ที่ทำได้ 300 Mbps ส่วนในมุมของการใช้งานในระดับองค์กร เช่นโรงงานอุตสาหกรรม เทคโนโลยี 5G ที่มีความหน่วงน้อย ทำให้การสั่งงานต่างๆ ทำได้อย่างแม่นยำ
“บริการ 5G ของ AIS ในฝั่งผู้บริโภคนั้นเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว ผ่านแพ็คเกจที่หลากหลาย และโครงข่ายที่ครอบคลุมกทม. 60% และต่างจังหวัด 16% ส่วนการนำไปใช้ในระดับองค์กร AIS มีการติดต่อกับหลายพื้นที่ เช่น EEC หรือครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับโครงข่ายให้ครอบคลุมถึง 90%”
พัฒนาเนื้อหาใหม่สร้างความหลากหลาย
อย่างไรก็ตามการมีแค่ความเร็ว หรือความครอบคลุมอาจตอบโจทย์การใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ AIS ยกระดับการพัฒนาเนื้อหาใหม่ เช่นบริการ AR และ VR ที่ต้องใช้จุดเด่นเรื่องความเร็วสูง และความหน่วงน้อยของเทคโนโลยีนี้ รวมถึงบริการเล่นเกมแบบสตรีมมิ่ง ช่วยให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นกลาง-ล่าง เล่นเกมคุณภาพสูงได้
ขณะเดียวกัน AIS ยังเตรียมเจรจากับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายค่ายเพื่อพัฒนาโทรศัพท์มือถือรองรับเทคโนโลยี 5G จากปัจจุบันที่มีประมาณ 15 รุ่น ให้มีถึง 30 รุ่นภายในสิ้นปีนี้ และปี 2564 คาดว่าจะมีเข้ามาอีก 40 รุ่น ที่สำคัญคือโทรศัพท์มือถือเหล่านั้นจะมีราคาที่ต่ำลงเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“ตอนนี้ราคาโทรศัพท์มือถือ 5G อยู่ที่เกือบสองหมื่นบาท ดังนั้นผู้บริโภคคงเข้าถึงได้ไม่ง่าย สังเกตจากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ในระบบของ AIS อยู่ที่ 60,000 ราย และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเป็น 1 แสนราย และในปี 2564 จะมีมากกว่านี้ เพราะตัวแพ็คเกจที่เหมาะสม ประกอบกับโครงข่ายที่ขยายออกไปมากขึ้น”
การแข่งขันที่ดุเดือดกว่าเดิมหลังจากนี้
แม้ AIS จะเริ่มสื่อสารการตลาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แต่ด้วยการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดในเดือนมี.ค.-พ.ค. และค่อยๆ กลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับ 5G จะกลับมาดุเดือดอีกครั้ง และอยู่ที่แต่ละแบรนด์จะทำตลาดเข้มข้นแค่ไหน
สำหรับงบการลงทุนของ AIS ในปี 2563 อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท ไล่ตั้งแต่โครงข่าย, เทคโนโลยีต่างๆ, ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ส่วนในมุมของงบการตลาด AIS มีการใช้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ เพราะต้องการพัฒนาฝั่งโครงข่าย และเนื้อหาใหม่มากกว่า
หากนับการลงทุน 30 ปีของ AIS จะคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 9.15 แสนล้านบาท พร้อมลงทุนต่อเนื่องกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และยกระดับการให้บริการของ AIS สู่ผู้นำระดับสากลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
สรุป
30 ปี ของ AIS ถือเป็นเวลาที่ยาวนาน เพราะต้องนับตั้งแต่ทุกคนเริ่มมีโทรศัพท์มือถือ จนถึงยุคที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ยิ่งการที่ AIS ต้องการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ผ่านการใส่เนื้อหาใหม่ๆ เข้าไป และการเข้าไปรุกตลาดการใช้งานในระดับองค์กรมากขึ้น ทำให้เป้าหมายของ AIS เริ่มชัดเจน และเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา