นี่เป็นบทความที่น่าสนใจโดย สตาร์ทอัพผัดเป็ด ซึ่ง Brand Inside นำมาสรุปให้อ่านกัน สิ่งที่กระแทกใจตั้งแต่แรกคือ ขณะที่เรากำลังพยายามเป็น Thailand 4.0 อย่างภาคภูมิ ญี่ปุ่นกำลังวางแผนประเทศ 5.0 กันแล้ว เรียกว่า Society 5.0 โดยสามารถดาวน์โหลดแผนนี้ได้ที่ http://www.keidanren.or.jp/en/policy/2016/029_outline.pdf
อย่างไรก็ตาม Keidanren ไม่ได้เป็นสมาคมธุรกิจเดียวในญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีคู่แข่งอีก 2 สมาคม แต่ Keidanren เป็นสภาธุรกิจที่มีอิทธิพลในญี่ปุ่น เสียงน่าจะมีน้ำหนักพอควร และการทำรายงานนี้ เป็นการตอบสนองแผนงาน Society 5.0 ของรัฐบาล LDP (พรรครัฐบาลของชินโซ อาเบะ) นี่ไม่ใช่แผนของรัฐบาลโดยตรง (แต่ก็น่าจะมีน้ำหนักพอสมควร)
ทำไมต้อง Society 5.0
ญี่ปุ่นนั้นมองเห็นว่าเป้าหมายจริงของการพัฒนาไม่ใช่แค่สร้างเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ แต่เป็นการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นความท้าทายใหญ่ๆ ก็คือจำนวนประชากรที่ลดลง, คนแก่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน, สตรีมีส่วนในเศรษฐกิจน้อย และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องใช้ เทคโนโลยี 4.0 เพื่อสร้างสังคม 5.0
และแน่นอนว่า สิ่งที่ต้องใช้งานแน่ๆ เช่น IoT, Robot, AI, Big Data, 3D Printing และ VR ซึ่งทั้งหมดสามารถแบ่งได้ 2 ส่วนคือ Cyber Space (หรือก็คือโลกไอทีนั่นแหละ) และ Physical Space ซึ่งก็คือ โลกจริงๆ ของเราโดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลในโลกจริงผ่านเซนเซอร์ที่กระจายอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ จากนั้นส่งข้อมูลเหล่ากลับไป Cyber Space ในรูปแบบ Big Data ให้ AI และมนุษย์เอาไปวิเคราะห์ จบด้วยการเอาผลสรุปที่ได้มาปรับปรุงโลกจริงด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่รวดเร็ว เช่น หุ่นยนต์หรือ 3D-Printing
ถ้าสร้างระบบนี้สำเร็จ ทั้ง Physical Space และ Cyber Space จะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
แน่นอนว่า มนุษย์ จะสามารถติดต่อกับ Cyber Space ได้ผ่าน Virtual Reality หรือ VR เช่น ดูสิ่งที่จะพิมพ์สามมิติออกมาในโหมด VR ก่อน หรือใช้ VR ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูล
จุดเริ่มต้นเกิดจากการยอมรับว่า ตัวเองตามหลัง
ดูได้เลยว่าบริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เช่น Sharp หรือ Toshiba กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ดังที่ Brand Inside นำเสนอเรื่องราวไป Toshiba อาการหนัก ขาดทุนยับเยินจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจถึงขั้นล้มละลาย
ในรายงานยอมรับว่าญี่ปุ่นคิดแผนนี้ช้ากว่า Industrie 4.0 ของเยอรมัน, Industrial Internet ของสหรัฐ, e-Estonia ของเอสโตเนีย และ Smart Nation ของสิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลจากโลกจริงให้มากที่สุด แม่นที่สุดด้วย IOT แล้วเอาขึ้นไปวิเคราะห์
ในฐานะที่เป็นเจ้าการผลิตมาก่อน รายงานจึงยกตัวอย่างสิ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดั้งเดิม 4 ข้อ คือ
- การขายสินค้าที่พ่วง Service ต่างๆ เข้าไปด้วยความสามารถเชื่อมต่อ Internet ไม่ใช่การขายขาดครั้งเดียว การผลิตจำนวนมาก แต่ก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะคนได้ คิดว่าคงมองว่า 3D Printing จะมาตอบโจทย์
- รถที่อัพเกรด Firmware ได้เหมือน iPhone อัพเดต IOS เพื่อเพิ่มความสามารถและลูกเล่นใหม่ๆ, รถขับตัวเองที่จะทำให้การออกแบบห้องคนขับเปลี่ยนแนวไปเป็นห้องนั่งเล่น
- เครื่องมือแพทย์ที่ติดตัวกับคนชรา ผู้ป่วยและส่งผลวัดต่างๆ ให้แพทย์ตลอดเวลา เพื่อให้การรักษาเป็นไปในลักษณะการป้องกันมากขึ้น
- Fintech เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ธนาคาร
การแก้ปัญหาของญี่ปุ่นด้วยเทคโนโลยี
ประชากรลดลง > สร้างธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพสังคมด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ต่อให้คนลดลงก็ไม่น่ากลัว
สังคมที่คนชรามากขึ้นและสตรีไม่ค่อยมีส่วนในเศรษฐกิจภาคต่างๆ > สร้างงานและอาชีพใหม่ๆ ที่คนกลุ่มนี้สามารถทำได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งถ้าพวกอุปกรณ์การแพทย์มันช่วยดูแลได้ตลอดจริงๆ ก็น่าจะทำให้เขามีอิสระในชีวิตได้พอสมควร
ดังนั้น ไม่แน่ว่าต่อไปอายุเกษียณ 60 คงไม่พอแล้วโดยเฉพาะสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 21 เพราะเงินที่เก็บมาไม่พอใช้จนตาย, รุ่นลูกมีภาระจ่ายมากเกินกว่าจะช่วยพ่อแม่ไหว, โอกาสจะมีลูกเขย ลูกสะใภ้อยู่บ้านเพื่อดูแลมีน้อยลง นั่นหมายถึงค่าดูแลที่สูงขึ้น และแน่นอนเมื่อคนแก่เพิ่มขึ้นๆ ประสิทธิภาพของชาติก็ลดลง แถมรัฐก็ไม่อาจแบกรับภาระสวัสดิการไหว
ประเทศไทยเองอัตราผู้สูงอายุเพิ่มไม่น้อยหน้าญี่ปุน (น่าจะอันดับ 3 ของโลก) แต่ยังติดหล่ม Middle Income Trap แบบไม่มีท่าจะหลุดพัน จริงๆ ต้องเริ่มคิดว่ามีงาน Work@Home อะไรที่คนแก่ทำได้ และจะฝึกคนเหล่านี้ให้ใช้เทคโนโลยีเป็นได้อย่างไร เรื่องนี้ดูแล้วไทยยังไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง
อันตรายทางธรรมชาติและการก่อการร้าย > ญี่ปุ่นไม่มีปัญหาก่อการร้ายแต่ปัญหาที่กังวล อาจเป็นเรื่อง Cyber security มากกว่าเพราะจัดทีโรงไฟฟ้าดับค่อนประเทศ, ส่วนเรื่องธรรมชาติก็จะเป็นเทคโนโลยีประหยัดทรัพยากรน้ำ อากาศที่ขายชาติอื่นได้ และแน่นอนเทคโนโลยีการสื่อสาร การก่อสร้างที่ช่วยให้รับมือและฟิ้นฟูจากภัยธรรมชาติต่างๆ ได้รวดเร็ว
กำแพงที่ขัดขวางการก้าวไปข้างหน้า
สมาคมอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มองว่ามีอุปสรรคหรือกำแพงอยู่ 5 อย่างที่ขัดขวางการก้าวไปเป็น Society 5.0
กำแพงที่ 1 – กำแพงระบบราชการ รายงานเสนอว่าทุกกระทรวงและหน่วยงานควรมาวางแผนร่วมกันโดยใช้ IOT เป็นตัวเชื่อม (แต่ยังจินตนาการไม่ออกว่าใช้อย่างไร)
กำแพงที่ 2 – กำแพงกฎหมาย สมาคมอุตสาหกรรมญี่ปุ่นบอกว่าข้อมูลนี่แหละสำคัญที่สุด ข้อมูลที่มีปริมาณมาก, คุณภาพสูง, สามารถนำมาใช้ได้รวดเร็วจะช่วยสร้างความได้เปรียบอย่างมาก จึงควรปรับปรุงกฎหมายให้ส่งเสริมการเอาข้อมูลต่างๆ มาใช้ อ่านแล้วก็นึกถึง https://www.data.gov/ ที่รัฐบาลอเมริกันเปิดให้คนเอาไปใช้ได้ (แต่ Trump อาจจะไม่ทำต่อแล้ว) แก้กฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนารถอัตโนมัติ, โดรน, หุ่นยนต์ โดยนึกถึงเสียงประชาชนเป็นสำคัญ
กำแพงที่ 3 – กำแพงระบบกฎหมายเทคโนโลยี ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี IOT, Robotics, AI ปรับปรุงภาษีวิจัย, รวมทั้งผลักดันให้ 1% ของ GDP ถูกเอาไปใช้กับการวิจัยจริงๆ ตามรายงานว่า 26 Trillion Yen หรือประมาณ สองแสนสองหมื่นล้านดอลลาร์ ไม่เยอะเท่าไหร่ครับ ก็ประมาณ 57% ของ GDP ไทยทั้งประเทศเท่านั้นเอง
.
กำแพงที่ 4 – กำแพงทรัพยากรมนุษย์ ต้องทำให้ประชาชนทุกคนเป็น “มนุษย์ผู้มีความคิดอิสระและร่วมมือกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วยการเชื่อมโยงความรู้แขนงต่างๆ” ฟังแล้วก็มึนๆ ยิ่งในบริบทญี่ปุ่นมันแปลว่าอะไรนี่ยิ่งมึน แต่ที่น่าสนใจ คือ ต้องสร้างความรู้และความสามารถตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม รวมถึงส่งเสริมให้คนพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างคนมีฝีมือก็สำคัญมาก ในรายงานถึงกับบอกว่าควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดพวกต่างชาติมาตั้งรกราก ทำงานในญี่ปุ่น
กำแพงที่ 5 – กำแพงการยอมรับทางสังคม ต้องมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเครื่องจักรและ AI ให้ลึกถึงเรื่องแนวปรัชญาด้วย เช่น อะไรคือคำจำกัดความของ “ความสุข” อะไรคือ “มนุษย์” จุดนี้ฝรั่งเองก็เริ่มคิดเหมือนกันนะว่ายิ่งเครื่องจักรทำงานได้มากขึ้นๆ คุณค่าของมนุษย์แท้จริงแล้วอยู่ไหน?
บริษัทญี่ปุ่นทำกำลังทำอะไรเพื่อส่งเสริม Society 5.0
ประการที่ 1 คือสร้าง “พื้นที่ไร้การแข่งขัน” ขึ้นมาให้บริษัทต่างๆ มาร่วมมือแทนที่จะขัดขากันเอง
ประการที่ 2 คือร่วมมือกันระหว่างบริษัทใหญ่, เทคสตาร์ทอัพ, SME ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ, SME ในไทยน่าจะเริ่มมองมุม Incubate ให้น้อยลงและส่งเสริมสตาร์ทอัพเป็น Vendor หรือ Solution Provider ได้แล้ว เพราะเม็ดเงินจริงๆ มันอยู่ตรงนั้น และนี่จะช่วยให้เกียร์ของเทคสตาร์ทอัพ เข้าไปในสภาพแวดล้อมธุรกิจไทยได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น แต่ปัญหาคือบริษัทไทยไม่ชอบของไทย, คิดว่าของไทยต้องราคาถูก, เทคสตาร์ทอัพไทยเองชอบคิดแบบ Silicon Valley มากไปแทนที่จะมองปัญหาของแวดวงธุรกิจในประเทศ
ประการที่ 3 คือผู้บริหารต้องคืนความรู้ให้สังคมโดยการกลับไปสอนนักเรียน ส่งเสริมให้สตรีกล้าแสดงความสามารถ
ประการที่ 4 คือยอมรับว่าจะต้องมีงานที่หายไปแน่ๆ และช่วยสร้างแรงงานที่มีความสามารถหลากหลาย ยืดหยุ่นพอจะไปทำงานใหม่ๆ ได้ นี่ก็เป็นอีกข้อที่รายงานค่อนข้างยอมรับความจริง
สรุป
ญี่ปุ่นมองเทคโนโลยียุค 4.0 เป็นเพียงพาหนะสู่อนาคตมากกว่าจะเป็นเป้าหมายเพราะญี่ปุ่นเห็นแล้วว่ามีปัญหาสังคมมากมายกำลังรออยู่ข้างหน้า Society หรือ สังคม 5.0 ต้องเน้นที่ “คน” โดยใช้เทคโนโลยีรีดประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่นในการทำงานออกจาก “คน” ให้มากที่สุดตั้งแต่เด็กจนตาย แต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงการเพิ่มคุณค่า, คุณภาพชีวิตและทางเลือกในการใช้ชีวิตให้กับประชากรด้วย
สำหรับประเทศไทย…
ที่มาของภาพปก: Picture of Azuma Bridge anda Distant View of a Torpedo Explosion By Inoue Tankei 1888, ภาพอื่นๆ จาก pixabay.com
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา