กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจเติบโตชะลอตัวลงกว่าเดิม

แบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ขณะเดียวกัน กนง. ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจเติบโตชะลอตัวลงกว่าเดิม จากปัจจัยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอาจเติบโตช้ากว่าที่คาด

Bangkok กรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% โดยมุมมองของ กนง. ในการประชุมครั้งนี้คือมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวลงน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่อย่างไรก็ดีมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้านั้นมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้า ขณะเดียวกันภาคแรงงานของไทยยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางจะยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน ไม่น้อยกว่า 2 ปี

ขณะเดียวกันการฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าในระยะข้างหน้า มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

กนง. ยังมองว่าระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับ เงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน นอกจากนี้ กนง. ยังมองเห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

นอกจากนี้ กนง. ยังเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

กนง. คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้จะถดถอยที่ -7.8% ขณะที่ปีหน้าเติบโต 3.6% ปรับลดลงจากเดิมที่ 5% ในคาดการณ์เดิมในเดือนมิถุนายน

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ