EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าหดตัวอยู่ที่ -7.3% เป็น -7.8% การฟื้นตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางความสี่ยงสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะความเปราะบางในตลาดแรงงานและการปิดกิจการธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 แต่มาตรการปิดเมืองเริ่มกลับมาเข้มงวดในบางประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลงและยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19
การบริโภคภาคบริการในญี่ปุ่นยังอ่อนแอ การลงทุนภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำ คาดว่ามาตรการปิดเมืองระยะหลังเน้นปิดเมืองเฉพาะพื้นที่ที่มีความเข้มงวดและมีผลต่อการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าปิดเมืองแบบทั่วไป
EIC ยังคงมุมมองการฟื้นตัวอย่างช้าๆ การปิดกิจการและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศอาจทำให้เกิดแผลเป็น (scarring effects) ต่อเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในระยะถัดไปได้ ขณะที่มาตรการทางการคลังที่มีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาทยอยหมดอายุลงหรือได้รับการต่ออายุในขนาดที่ลดลงในหลายประเทศ ทำให้เกิดภาวะหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทย หลายภาคส่วนมีการฟื้นตัวหลังผ่านจุดต่ำสุดช่วงไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลง การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลง เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 หดตัวมากถึง -12.2% YOY หดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนผลกระทบรุนแรงและรวดเร็วจากมาตรการปิดเมือง หลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทปรับตัวดีขึ้น แต่ด้านการท่องเที่ยวนั้น ธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง
EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 เหลือเพียง 6.7 ล้านคน การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากเพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดในประเทศ ข้อมูลล่าสุดเช่น Google mobility จะพบการฟื้นตัวของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณช้าลงหรือทรงตัว EIC คาดว่าจะฟื้นตัวแบบช้าๆ เนื่องจากยังมีอุปสรรคกดดันโดยเฉพาะผลของแผลทางเศรษฐกิจ
โควิดสร้างแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งปัญหาการปิดกิจการของธุรกิจและความเปราะบางในตลาดแรงงานซึ่งเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า การปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงซ้ำเติมอีกแผลคือความเปราะบางของตลาดแรงงาน ข้อมูลล่าสุดช่วงไตรมาส 2 อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้น 1.95% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี
รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำมีแนวโน้มหดตัวลงมากจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง -11.5% YOY ตามจำนวนงานเต็มเวลาและงานโอทีที่หายไป บางส่วนกลายเป็นงานต่ำระดับ (underemployment) แรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง ระดับเงินฝากของผู้คนเพิ่มขึ้นชัดเจนในทุกขนาดบัญชี สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เน้นเก็บออมช่วงวิกฤตเนื่องจากกังวลต่อความไม่แน่นอนในอนาคต
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ เม็ดเงินล่าสุดที่ได้รับอนุมัติภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ราว 4.75 แสนล้านบาทซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า EIC ปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินดังกล่าวจาก 6 แสนล้านบาทเป็น 5 แสนล้านบาท นโยบายการเงิน จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี ค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นทิศทางแข็งค่าเล็กน้อยจากปัจจุบัน
ความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการกลับมาระบาดอีกระลอกของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ จะส่งผลโดยตรงต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศหากมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และยังต้องจับตาประเด็นความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงเดือนพฤศจิกายนอาจส่งผลต่อภาวะการค้าและผันผวนในตลาดการเงินโลกได้
รวมถึงจับตาผลของการปิดกิจการและความเปราะบางของตลาดแรงงานว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ตลอดจนความเสี่ยงจากเสถียรภาพการเมืองไทยที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้
ที่มา – EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา