กานติมา เลอเลิศยุติธรรม เตือนคนทำงาน Life After COVID ที่ไม่ใช่แค่ Work From Home และ New Normal

หลายคนให้ความสนใจกับสถานการณ์​ COVID เพราะเป็นวิกฤตเกี่ยวกับสุขภาพที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง จนเรียกกันว่า New Normal เพราะเชื่อว่าแม้เมื่อ COVID ผ่านไป วิถีชีวิตก็อาจไม่กลับไปเหมือนเดิม

Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล หรือ CHRO ของ AIS บอกว่า ทุกคนใช้เวลาปรับตัวรับมือกับ COVID หลายคนต้อง Work From Home กัน แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ Life After COVID ที่แท้จริง

Life After COVID ต้องเตรียมพร้อม

กานติมา บอกว่า COVID เป็นเหมือนงาน Event หนึ่ง ที่ทำหน้าที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของ Work From Home หรือ New Normal แต่องค์กรและพนักงานต้องเตรียมการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ รวมถึงเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การทำ Human Resource (HR) ต้องรีบตระหนักรู้ ตื่นตัว ว่าสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีผลกับการบริหารจัดการองค์กรอย่างไรบ้าง คนทำงานด้าน HR ต้องยกระดับตัวเอง ต้องเป็นเพื่อนคู่คิดกับสายธุรกิจ ต้องทำงานด้านกลยุทธ์มากขึ้น คือ องค์กรจะเดินหน้าไปทางไหน ต้องเฟ้นหาและพัฒนาบุคลกรรองรับได้ทันที ขณะที่ HR แบบเดิมๆ จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีทั้งหมด

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมและเปลี่ยนผ่านองค์กร คือ ผู้บริหาร และ HR อย่าทำตัวเองเป็นอุปสรรคของการเปลี่ยนผ่านองค์กร

องค์กรต้องไม่ลืมลงทุนด้านคน

ในสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตโควิดแบบนี้ การลดค่าใช้จ่าย การเลิกจ้าง ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น แต่องค์กรต้องไม่ลดการลงทุนด้านคน ต้องไม่ลืมว่าถ้าไม่ลงทุนด้านคน องค์กรก็ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ องค์กรไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นทักษะของคนยังจำเป็นเสมอ

AIS 6 ปีที่แล้วเริ่ม Disrupt ตัวเอง ถือเป็นโชคดี ทำให้มีความพร้อมเมื่อเจอกับความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น 8 เดือนของปีนี้ ทำให้เห็นผลของการเตรียมตัวตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ทำให้มีประสิทธิภาพจริงๆ ในช่วง COVID ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ กระบวนการพัฒนาตัวเองของคน AIS ไม่ได้หยุดชะงัก ยังคงมีการพัฒนาตัวเอง มีการหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา

ย้ำอีกครั้งว่า 8 เดือนผ่านไปคือจุดเริ่มต้น จากนี้คือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและการทำงาน ดังนั้นจะเป็น Crisis หรือ Benefit อยู่ที่การตัดสินใจ

เด็กจบใหม่ ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

ตลาดแรงงานปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และการเปลี่ยนผ่านมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่อง COVID ต่อไปวิกฤตครั้งนี้จบลง องค์กรก้ไม่กลับไปจุดเดิมอีกแล้ว การทำงานต้องมี Flxibility มากขึ้น คนต้องทำงานได้ง่ายขึ้น แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อนาคตอาจเห็นการจ้างงานที่เปลี่ยนไป พนักงานประจำอาจลดลง การจ้างงานแบบโปรเจค หรือแบบอิสระอาจเพิ่มขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความอิสระทางความคิด ต้องการพื้นที่แสดงศักยภาพ

สำหรับเด็กจบใหม่ การเรียนรู้ไม่ได้จบแค่ในสถาบันการศึกษา ต้องใช้เวลานี้ในการหาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาตัวเองตลอดเวลา และเตรียมตัวเองให้พร้อม ต้องรู้ว่าทักษะอะไรที่มีความจำเป็น เมื่อโอกาสมาถึงต้องไม่พลาดที่จะคว้าไว้

ส่วนคนที่อยู่ในตลาดแรงงานก็เช่นเดียวกัน ต้องเปิดใจ พัฒนาทักษะ รู้ว่าต้องพัฒนาอะไรเพื่อให้สามารถเติบโตต่อไปได้ ต้องมีความรับผิดชอบ การพัฒนาตัวเอง การคุยกับตัวเองเพื่อวิเคราะห์ตัวเอง เพราะอย่าลืมว่า ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ ยังไงความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

มนุษย์จะถูกเลือกให้อยู่รอด (ในการทำงาน) โดยเทคโนโลยี

สำหรับ AIS ที่มีการ Disrupt ตัวเองตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็สามารถผ่านมาได้แล้ว มีการปรับองค์กรให้คล่องตัว ลดลำดับชั้นในการทำงาน ลดช่องว่าง ยกเลิกตำแหน่งระดับสูงทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ขมขื่นพอสมควร พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่การได้เลื่อนขั้นไม่ใช่แค่ผลงานแต่ยังต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น

กานติมา ยอมรับว่า AIS ต้องลงทุนกับคนที่ถูกต้อง ใครที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถไปต่อด้วยกันได้ นี่ไม่ได้เป็นเฉพาะ AIS แต่เป็นทุกองค์กร ตอนนี้อยู่ในสถานภาพที่จะดูแลทุกคนที่ใช่ สำหรับ AIS ต้องมี DNA ของ AIS เห็นเห็นความท้าทายเป็นโอกาส อย่าทำแค่สั่ง แต่ต้องไปให้ไกลกว่าความคาดหวัง มองความท้าทายเป็นความสนุกสนาน ต้องมี Growth Mindset นี่คือเรื่องสำคัญมาก

ดังนั้น จึงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า มนุษย์จะถูกเลือกให้อยู่รอด (ในการทำงาน) โดยเทคโนโลยี

CSR ที่เปลี่ยนไปกับสถานการณ์ปัจจุบัน

AIS เชื่อว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจและโควิดจะมีคนตกงานพอสมควร ประกอบกับ 1 ต.ค. นี้ AIS จะครบรอบ 30 ปี จึงมีการเปลี่ยนแนวทางการทำ CSR ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม เกิดเป็น อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ ทำงานร่วมกับ AIS Academy เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และต่อยอดเป็นอาชีพได้จริง หวังช่วยพัฒนาอาชีพให้กับผู้ที่สนใจ

รวมถึงต่อยอดโครงการ Inno Jump ซึ่งเป็นโครงการภายในของพนักงานที่อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่จะขยายผลเป็นโครงการ Jump Thailand ขยายไปมากกว่าแค่ใน AIS เปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาร่วมโครงการได้ และปิดท้ายด้วย Learn Di ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับสังคมไทย เราไม่ต้องทำเพิ่ม แต่เราทำเผื่อ คือ ส่งต่อความรู้ที่เกิดขึ้นในองค์กรไปสู่สังคม สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะชีวิตแต่ละช่วงก็ต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

สรุป

ปัจจุบันพนักงานกว่า 13,000 คนของ AIS มีลด มีเพิ่ม ตามความจำเป็นของงานที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ได้มีการลดคนเพราะ Crisis โดยตอนนี้ Gen Y มีเกิน 70% ขององค์กรแล้ว แปลว่าเป็นคนรุ่นใหม่ และมีคนรุ่นใหม่อยู่ในระดับผู้บริหารไม่น้อย

กานติมา บอกว่า เป็นความท้าทายไม่น้อยที่จะดูแลพนักงานรุ่นใหม่ให้ได้คุณภาพและตรงความต้องการ เพราะโจทย์ของคนรุ่นนี้ก็แตกต่างจากรุ่นก่อน รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับกับเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นคนต้องไปทำงานอื่นที่เทคโนโลยีจะทดแทนไม่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา