ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นกำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ สองประเทศนี้ต่างก็มีดีไม่แพ้กันจนกลายเป็นคู่แข่งกันหลากมิติ ล่าสุด เกาหลีใต้เตรียมพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง ที่คาดว่าน่าจะดีกว่าสายพันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกโดยญี่ปุ่นด้วย
ขณะนี้เกาหลีใต้มีไร่นาราว 60,000 เฮกตาร์หรือประมาณ 375,000 ไร่ โดยพื้นที่ราว 9% หรือประมาณ 33,750 ไร่ถูกใช้เพาะปลูกสำหรับข้าวสายพันธุ์เกาหลีใต้มาตั้งแต่ปี 2018 โดยหวังว่าผลผลิตข้าวจะออกมาเหนือข้าวคุณภาพสูงของญี่ปุ่นสายพันธุ์ Koshihikari, Akibare (เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการยอมรับว่าอร่อย รสชาติดี เหมาะสำหรับนำมาทำซูชิ) และ Hiromebore (พันธุ์นี้ก็นิยมนำมาทำซูชิ)
ปีนี้ เกาหลีใต้ใช้พื้นที่ราว 2,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 12,500 ไร่ปลูกข้าวสายพันธุ์ Headeul และ Alchanmi สายพันธุ์ใหม่ที่เกาหลีใต้ผลิตเอง โดยสถาบันพัฒนาชนบทของเกาหลีใต้ (Rural Development Administration) คาดว่า น่าจะได้รับความนิยมมากกว่าข้าวญี่ปุ่น
ประเด็นนี้ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันพัฒนาชนบทฯ ดังกล่าวให้ความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ The Korea Times ว่า ข้าวสายพันธุ์ญี่ปุ่นนั้นถูกประเมินคุณค่าและให้ราคาที่สูงเกินจริง และยังบอกอีกว่า ความท้าทายของทีมเกาหลีใต้คือ การทำให้เห็นว่าข้าวญี่ปุ่นที่ว่าอร่อยกว่า รสชาติดีกว่านั้น ไม่เป็นความจริง
ความหมายที่นักวิจัยอาวุโสจะสื่อก็คือทีมผลิตข้าวสายพันธุ์เกาหลีใต้มีหน้าที่พิสูจน์เรื่องนี้ ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ทำโดยประเทศตัวเองให้มีรสชาติดีกว่า อร่อยกว่า อย่างไรก็ดี นักวิจัยอาวุโสปฏิเสธมุมมองที่ว่า การที่เกาหลีใต้ลุกขึ้นมาพัฒนาพันธุ์ข้าวตัวเอง ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมืองที่เกาหลีใต้กำลังขัดแย้งกับญี่ปุ่นในปัจจุบันแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะปลูกข้าวให้ได้ 7,500 เฮกตาร์ หรือประมาณ 46,875 ไร่ภายในปี 2022
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศและการต่อต้านญี่ปุ่นอาจสะท้อนผ่านมิติทางการค้าที่ชัดเจนมากที่สุด อัตราการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ลดลง 23% ในเดือนกรกฎาคม เทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าประเภทเบียร์ลดลงอย่างรุนแรง จากที่เคยนำเข้ามูลค่า 685,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 21.2 ล้านบาท ปรากฎว่ามีการนำเข้าลดลงมากถึง 84%
ขณะเดียวกันรถยนต์ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก็นำเข้าลดลงถึง 52% ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเสริมสวย อะไหล่รถยนต์ ของเล่น กล้องวิดีโอ เหล่านี้ล้วนมีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
Dr. Park Saing-in นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ระบุว่า อุตสาหกรรมข้าวของเกาหลีเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการปกป้องอย่างสูงจากรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนเรื่องรสชาตินั้น Dr. Park มองว่าไม่ค่อยแตกต่างกันนัก
ขณะที่ Paek Soo-jin ไกด์นำเที่ยวเกาหลีเล่าว่า ไม่กี่เดือนมานี้ เธอเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าภายในประเทศมากขึ้น มากกว่าจะสนใจสินค้าญี่ปุ่น เพื่อนๆ ของเธอเองก็หันมาทำแบบเดียวกัน นอกจากนี้ เธอยังบอกว่าเธอไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเธอจะแยกแยะรสชาติข้าวญี่ปุ่นกับข้าวเกาหลีได้หรือไม่ อาจจะต้องขึ้นอยู่กับการทำอาหารแต่ละประเภทด้วย แต่ถ้าให้เธอเลือก เธอก็จะเลือกข้าวของคนเกาหลีทำเองมากกว่า เธอบอกว่า ไม่ใช่เฉพาะข้าวเท่านั้นที่เธอเลือก แต่รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่ผลิตโดยเกาหลีด้วย
ที่มา – South China Morning Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา