ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนแซงหน้าสหรัฐฯ เรียบร้อยด้วยอัตราที่ 19.9% ขณะที่สหรัฐฯ มีผลงานอยู่ที่ 18.3%
งานวิจัยของจีนช่วงระหว่างปี 2016-2018 เผยแพร่รวม 305,927 ชิ้น แซงหน้าสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เพียง 281,487 ชิ้น ขณะที่เยอรมนีอยู่อันดับที่ 3 มีสัดส่วนที่ 4.4% หรือประมาณ 67,041 ชิ้น ซึ่งการผลิตงานวิจัยถือเป็นตัวชี้วัดขั้นพื้นฐานของการพัฒนาและวิจัยในแต่ละประเทศ ก่อนหน้านี้ มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ก็เคยคาการณ์ว่า จีนน่าจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้
จีนมีผลงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นถึง 18 เท่าจากอัตราเฉลี่ยที่เคยทำได้ในช่วง 1996 – 1998 และเพิ่มขึ้น 3.6 เท่าในช่วงปี 2006 – 2008 ทั้งนี้ งานวิจัยของทั้งสองประเทศแตกต่างกันในแง่ความเชี่ยวชาญแต่ละสาขา จีนเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ เคมี วิศวกรรม วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ ขณะที่สหรัฐฯ จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านคลินิก และวิทยาศาสตร์ด้านชีวภาพ
จีนลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสูงมากราว 5.54 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17.2 ล้นล้านบาทในปี 2018 เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า ขณะที่สหรัฐฯ ลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้น 5% หรือราว 5.81 แสนล้านสหรัฐหรือ 18.14 ล้านบาท
นอกจากนี้ จีนยังใช้จ่ายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยระหว่างปี 2000 – 2018 มากขึ้นถึง 10.2 เท่า ด้านสหรัฐฯ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 1.8 เท่า
จีนภายใต้การปกครองของผู้นำแต่ละยุคสมัยก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศด้วย จีนในยุคที่เติ้ง เสี่ยงผิงปกครอง ทำให้มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก จีนภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติห้าปีฉบับที่ 10 ช่วง 2001 – 2005 ได้กำหนดเป้าที่จะวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 1.5% ของจีดีพี ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ ขณะที่ปี 2020 ต้องการให้มีสัดส่วนที่ 2.5% ของจีดีพี
จีนมีนักวิจัยรวม 1.87 ล้านคน มากกว่าสหรัฐฯ ที่มีอยู่ราว 1.43 ล้านคน ขณะที่คนจีนศึกษาในสหรัฐฯ มากถึง 300,000 คน มากที่สุดครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเคยติดอันดับ 2 ของโลกในการผลิตงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์มานานราว 2 ทศวรรษ แต่ก็ตกไปอยู่อันดับที่ 4 ที่ผลิตได้เพียง 64,874 ชิ้นในปี 2017
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา