24 ชั่วโมง คือเวลาที่เราทุกคนในโลกมีเท่าๆ กัน แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมคนบางคนถึงทำอะไรหลายๆ อย่าง ได้พร้อมๆ กันภายในวันเดียว เหมือนใน 1 วัน มีเวลา 30 ชั่วโมง โดยเฉพาะนักธุรกิจบางคนที่ดูแลกิจการมากกว่าหนึ่งอย่างภายในวันเดียว
Elon Musk ก็เป็นนักธุรกิจที่มีกิจการอยู่ในมือมากมายเช่นกัน ทั้ง Tesla, SpaceX, The Boring Company และ Neuralink ส่วนอีกคนหนึ่งคือ Jack Dorsey ที่เป็น CEO ทั้ง Twitter และ Square คำถามคือนักธุรกิจเหล่านี้ทำอย่างไรจึงสามารถงานหลายๆ อย่าง ได้ในวันเดียวกัน
คำตอบของคำถามนี้คงหนีไม่พ้น นักธุรกิจเหล่านี้ต้องพยายามหาทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง เพื่อลดเวลาการทำงาน และทำงานได้ดีขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งนักธุรกิจแต่ละคนมีวิธีที่ต่างกันออกไปดังนี้
Jack Dorsey CEO ของ Twitter และ Square ประชุมด้วย Google Doc
ที่ผ่านมาเคยมีผลการศึกษาเกี่ยวกับการประชุม พบว่า ผู้จัดการส่วนใหญ่เชื่อว่าการประชุม คือต้นเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ผู้จัดการอีกกว่า 65% เชื่อว่า การประชุมเป็นอุปสรรคในการทำงานอื่นๆ ให้เสร็จ และอีกกว่า 71% คิดว่าการประชุมส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพ
เมื่อการประชุมกลายเป็นข้อจำกัดในการทำงาน Jack Dorsey ก็ไม่ได้อยู่เฉย แต่เขากลับคิดวิธีการประชุมแบบใหม่ด้วยตัวของเขาเอง คือการประชุมผ่าน Google Doc โดยเขาจะใช้เวลาในการอ่านเอกสารประมาณ 10 นาที แล้วเริ่มแสดงความคิดเห็นลงไปบนเอกสารโดยตรง โดย Dorsey เล่าว่า วิธีนี้จะช่วยให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานด้วยกันจากที่ได้ก็ได้ โดยไม่ต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน
นอกจาก Jack Dorsey แล้ว Steven Sinofsky อดีตผู้บริหารที่ดูแลผลิตภัณฑ์ Windows ของ Microsoft ก็เห็นด้วยกับการประชุมที่คล้ายๆ กับที่ Dorsey ทำเช่นกัน แต่เขาจะใช้วิธีการเขียน และจดบันทึก ในระหว่างการประชุมแบบดั้งเดิมแทน
Elon Musk เลือกประชุมเท่าที่จำเป็น อะไรไม่จำเป็นตัดทั้งไป
Elon Musk เริ่มต้นการทำงานในแต่ละวัน ด้วยการทำงานที่มีความสำคัญมากที่สุดก่อน โดยเขาจะให้ความสนใจกับสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆ มากกว่าอะไรเล็กๆ น้อยๆ (Focus on signal over noise) และจะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์
ดังนั้นการประชุมของ Elon Musk จะต้องเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น เรื่องไม่สำคัญไม่ต้องประชุม ซึ่งเขาเคยส่งจดหมายถึงพนักงาน ใจความว่า ให้หลีกเลี่ยงการประชุมบ่อยๆ ยกเว้นกำลังเผชิญกับงานที่มีความเร่งด่วนมากๆ และในท้ายที่สุดแล้วหากต้องมีการประชุมจริงๆ ต้องแน่ใจว่าการประชุมครั้งนั้นสร้างคุณค่าอะไรบางอย่าง ให้กับผู้เข้าร่วม
นอกจากนี้ Elon Musk ยังบอกพนักงานด้วยว่า ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าจะออกจากการประชุม หรือวางสายในทันที ที่รู้สึกว่าการประชุมนั้นไม่สำคัญ ไม่ได้มีคุณค่าใดๆ
Jeff Bezos ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ยักษ์ใหญ่ e-Commerce จากประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นความเร็วในการทำงาน เพราะเขาเชื่อว่า ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ
ดังนั้นการตัดสินใจอย่างรวดเร็วจึงจำเป็นมาก การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว อาจสำคัญกว่าการตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพราะ บางครั้งเราสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจ เปลี่ยนทางเลือกที่ได้เลือกไปแล้วก็ได้ เหมือนประตูที่มีสองทาง ถ้าตัดสินใจผิด ก็แค่เดินกลับออกมาใหม่ เพราะบางครั้งค่าเสียโอกาสของการตัดสินใจช้า อาจมากกว่าการตัดสินใจผิด
นอกจากการตัดสินใจอย่างรวดเร็วจะสำคัญต่อการทำธุรกิจของ Jeff Bezos แล้ว เขายังบอกด้วยอีกว่า ในอีกทางหนึ่ง ความรวดเร็วก็เป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่งในสภาพการทำงานเช่นกัน
รู้จักวิธีการปฎิเสธแบบ Steve Jobs
Steve Jobs อดีต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Apple เคยเล่าถึงหลักการปฎิเสธของเขา ที่งาน Worldwide Developers Conference (WWDC) เมื่อปี 1997 ว่า การรู้จักปฎิเสธ คือการเลือกให้ความสนใจกับอีกสิ่งหนึ่ง เพราะการปฎิเสธ คือการเลือกให้ความสนใจกับไอเดีย หรือแนวคิดดีๆ เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจความคิดอื่นๆ อีกนับร้อยความคิด เพื่อตัดสินใจว่าควรที่จะลงแรง และเสียเวลาไปกับสิ่งใด
นอกจาก Steve Jobs แล้ว Warren Buffett ก็มีแนวคิดที่จะปฎิเสธเช่นกัน โดย เขาเล่าว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่รู้จักปฎิเสธสิ่งต่างๆ หลายๆ สิ่ง และเลือกที่จะทำเพียงสิ่งเดียวแทน
Bill Gates ทำสมาธิเป็นประจำ
Bill Gates นักธุรกิจผู้ก่อตั้ง Microsoft เล่าว่า การฝึกทำสมาธิเป็นประจำ เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้จิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ทำได้ดียิ่งขึ้น เพราะการทำสมาธิ เป็นการออกกำลังกายของจิตใจ เหมือนการออกกำลังกายปกติ ที่ใช้มัดกล้ามเนื้อเวลาเล่นกีฬา
โดย Bill Gates ใช้เวลาไปกับการทำสมาธิ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 10 นาที การทำสมาธิสอนให้ Bill Gates รู้จักให้ความสนใจกับความคิดที่อยู่ในหัวของเขา นอกจากนี้เขายังแนะนำให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำสมาธิที่ชื่อว่า The Headspace Guide to Meditation and Mindfulness ซึ่งเขียนโดยอดีตพระสงฆ์ชาวพุทธ ที่ชื่อว่า Andy Puddicombe ด้วย
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา