การย้ายฐานการผลิตกลับบ้านและไปอาเซียนของญี่ปุ่น ทำให้จีนเริ่มกังวลและเสียหน้า

ปีนี้ ถือเป็นปีแห่งความเปราะบางของจีนจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องโควิด-19 ระบาดจนวอดวายกันไปทั่วโลก ผ่านมาครึ่งปีกว่าแล้ว วัคซีนก็ยังไม่สามารถผลิตได้ จำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกก็ไม่ลดลง ไหนจะความขัดแย้งที่มีระหว่างสหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ และกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว พันธมิตรที่ถือเป็นเพื่อนรักเพื่อนแค้นเก่าอย่างญี่ปุ่นยังคิดที่จะลาจากจริงจัง

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Shinzo Abe
Shinzo Abe ภาพจาก Shutterstock

ปัจจุบัน โลกมีความไม่แน่นอนสูง หลายประเทศหันหลังให้จีนและเริ่มกระจายความเสี่ยงด้วยการพิจารณาถึงแหล่งผลิตที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับซัพพลายเชนมากขึ้น ญี่ปุ่นก็เพิ่งจะประกาศหันหลังให้จีนไปราว 87 บริษัท

ข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันและอุดหนุน 87 บริษัทให้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนด้วยงบประมาณ 653 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.02 หมื่นล้านบาทให้กลับไปบ้านตัวเองและไปอาเซียนกำลังทำให้จีนเริ่มกังวล เพราะญี่ปุ่นมีทั้งขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกและยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน เมื่อคิดหันหลังให้จีนก็เป็นเรื่องที่จีนต้องกังวลแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในจีนอาจจะอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 1% และมีการประเมินว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ทันที แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่น่าจะเห็นกันต่อเนื่องมากขึ้น สิ่งนี้ต่างหากที่ทำให้จีนกังวล

Chinese President Xi Jinping
ภาพจาก Shutterstock

การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนราว 87 บริษัท มี 70% ที่เป็นบริษัทขนาด SMEs ราว 2 ใน 3 คือบริษัทที่ผลิตเกี่ยวกับด้านการแพทย์ การตัดสินใจย้ายบริษัทที่เกี่ยวกับด้านการแพทย์ย่อมสร้างความมั่นใจให้ญี่ปุ่นระดับหนึ่งในเรื่องการรับมือกับโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นรวมถึงครั้งถัดไปที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ รายชื่อบริษัทญี่ปุ่นที่เตรียมย้ายออกจากจีนล็อตสองกำลังจะตามมา

นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก Teikoku Databank ระบุว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2019 มีบริษัทญี่ปุ่น 13,685 แห่งในจีน ลดลงจากปี 2016 ที่เคยทำสำรวจก่อนหน้านี้ที่ 13,934 แห่ง แต่ถ้านับช่วงที่มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ในจีนจำนวนมากที่สุดคือ 14,394 แห่ง

เมื่อบริษัทญี่ปุ่นเจอสงครามการค้าซัดเข้าไป ตามด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทต้องคิดพิจารณาที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนใหม่ อาทิ บริษัท Brother, Kyocera และ Fuji Xerox ที่ย้ายออกจากจีนไปเวียดนาม Sharp ในส่วนที่ผลิตเครื่องปรินเตอร์มัลติฟังก์ชันก็ย้ายออกจากจีนมาไทย แม้ว่าการเคลื่อนย้ายดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนทั้งหมดก็ตาม

Osaka Japan โอซาก้า ญี่ปุ่น
ภาพจาก Shutterstock

ทั้งนี้ Liu Zhibiao ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งมหาวิทยาลัย Nanjing ระบุว่า การย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นออกจากจีน ไม่ได้ทำให้จีนกังวลเพิ่มขึ้นอย่างเดียว แต่ยังทำให้จีนเสียหน้าด้วย

จากนั้น เขาก็พูดถึงจังหวัด Jiangsu ที่อยู่ฝั่งตะวันออกกลางของจีนว่า ไม่เคยเห็นการย้ายออกของบริษัทญี่ปุ่นในจีนมากมายขนาดนี้มาก่อน แน่นอนว่า โควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่นต้องพยายามสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ เลือกที่จะไม่อพยพหรือย้ายออกด้วยการช่วยลดต้นทุนและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ปลอดภัยให้แก่บริษัทนั้นๆ ซึ่งในจังหวัด Shandong ก็มีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 1,300 แห่ง รัฐบาลท้องถิ่นก็พยายามอย่างหนักที่จะรั้งบริษัทเหล่านี้ไว้เช่นกัน

แม้ว่าหลายบริษัทอาจจะนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ หรือส่วนประกอบรถยนต์จากจีนในจำนวนไม่มากนัก แต่การถูกดิสรัปจากโควิด-19 จนทำให้จีนต้องหยุดการผลิตของโรงงานทั้งหมดสร้างผลกระทบให้กับญี่ปุ่นไม่น้อย

Shinzo Abe Donald Trump G-7 France 2019
President Donald J. Trump meets Japan Prime Minister Shinzo Abe in a Pull-Aside meeting at the Centre de Congrés Bellevue Sunday, Aug. 25, 2019, in Biarritz, France, to announce a broad agreement on trade negotiations. (Official White House Photo by Shealah Craighead)

บางฝ่ายอาจจะมองว่าญี่ปุ่นพยายามแยกตัวจากจีน หันเข้าหาสหรัฐฯ รวมตัวกันเพื่อต่อต้านจีน แต่ Scott Kennedy ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน จาก Centre for Strategic and International Studies ในวอชิงตัน ระบุว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจการกระทำของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นไม่ได้มีเป้าหมายตัดความสัมพันธ์จีนทิ้งไป แค่เพียงต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยการเพิ่มแหล่งผลิตในซัพพลายเชนให้มันหลากหลาย

ทั้งนี้ มันก็คือการปรับตัวของญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ลดการพึ่งพาจีนน้อยลง ก็เหมือนกับหลายๆ บริษัทที่ไปลงทุนในจีนและต้องการกระจายความเสี่ยงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจจาก JETRO กับบริษัทญี่ปุ่นราว 424 แห่งในจีน มีราว 86% ที่ระบุว่ายังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงแหล่งซัพพลายเชนหรือย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด

ที่มา – South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา