ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานสภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนและในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดีไทยนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะฟื้นเศรษฐกิจกลับมาเท่าก่อนช่วง COVID-19
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมิถุนายน และสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังถือว่าเปราะบาง แต่ถือว่าค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในแดนติดลบ โดยตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ส่วนของไทยนั้นแสดงให้เห็นว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงต่ำสุด เนื่องจากการปิดเมืองเพื่อป้องกัน COVID-19
ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าภาคการส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ปรับตัวขึ้นครั้งนี้ดีไม่เท่ากับก่อน COVID-19 ดัชนีภาคการบริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายนถดถอยที่ -4.7% ทั้งไตรมาส -10.3% ขณะที่ภาคการผลิตของไทยถือว่าดูดีกว่าเดิมโดยตัวเลขล่าสุดในเดือนมิถุนายนหดตัวมาอยู่ที่ -17.7% และธนาคารแห่งประเทศไทยยังคาดว่าภาคการผลิตของไทยจะยังหดตัวในปีนี
สำหรับการบริโภคในประเทศนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เก็บข้อมูลการใช้บัตรเครดิตและเดบิตในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาพบว่าปริมาณการใช้ในช่วงเดือนเมษายนถือเป็นจุดต่ำสุด และกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคครัวเรือนของไทยยังถือว่าน่าเป็นห่วงเมื่อดูจากปัจจัยผู้ขอรับสิทธิ์การว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังคาดว่าตลาดแรงงานอาจต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะฟื้นตัว
การลงทุนของภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาอยู่ที่ -13% และการลงทุนในเครื่องจักรของภาคเอกชนถือว่าลดลงมาเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ยังหดตัว และยังมีการผลิตที่ถือว่าเป็นส่วนเกิน ยิ่งเป็นแรงกดดันทำให้การลงทุนลดลง
รายได้ของเกษตรกรในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมายังอยู่ในแดนลบอยู่ที่ -1.9% โดยรวมแล้วในไตรมาส 2 รายได้ยังถดถอยถึง -6% ขณะที่ในไตรมาส 2 การผลิตสินค้าเกษตรก็ยังไม่ฟื้นตัว อยู่ที่ -4.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรที่ถือว่าลดลงในไตรมาส 2 อยู่ที่ -1.4% ปัจจัยดังกล่าวยังถือว่ากดดันกับภาคการบริโภคในประเทศอีกหนึ่งทาง
ด้านนักท่องเที่ยวไทยที่เข้ามาในประเทศไทยมีเข้ามาไทยเพียงแค่หลักพันคนเท่านั้น และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID ในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย
ดอน ยังกล่าวว่าในช่วงที่เหลือของปีนั้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงติดลบน้อยลงเรื่อยๆ และใช้เวลาถึงปี 2022 ถึงจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อน COVID-19
Note: สไลด์สรุปสภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา