หลังการแถลงวิสัยทัศน์ AIS VISION 2017 ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การประกาศเป็นพันธมิตรแบบ exclusive กับ HBO ช่องรายการคอนเทนต์จากต่างประเทศ ที่ TrueVisions เพิ่งยุติการออกอากาศไปสดๆ ร้อนๆ สิ้น ธ.ค. ที่ผ่านมา
แต่คำว่า Exclusive ของ AIS นั้น ไม่ได้ครอบคลุมทุกช่องทาง
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ได้ออกมาเปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ว่า มีตัวแทนจาก HBO เข้ามาให้ข้อมูลกรณีที่ TrueVisions ยกเลิก 6 ช่องรายการ ซึ่งมี HBO อยู่ด้วย และทำให้ได้ข้อมูลว่า ความร่วมมือระหว่าง HBO และ AIS เป็นสัญญา exclusive เฉพาะบริการผ่านมือถือ (mobile) และทีวีระบบอินเทอร์เน็ต (IPTV) ไม่รวมเคเบิลและดาวเทียม
ดีลล่าสุดระหว่างAISกับHBOเป็นสัญญาexclusiveเฉพาะให้บริการผ่านมือถือ(mobile) และทีวีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต(IPTV)เป็นหลัก ไม่รวมเคเบิล-ดาวเทียม
— Supinya Klangnarong (@supinya) February 10, 2017
กลายเป็นว่าตอนนีัHBOค่อนข้างมีอำนาจต่อรอง เพราะถ้ากลับไปเจรจากับรายเดิมได้อีกรอบ ก็เท่ากับจะมีบริการทั้งผ่านมือถือ -ไอพีทีวี-เคเบิล-ดาวเทียม
— Supinya Klangnarong (@supinya) February 10, 2017
mobile/iptv กับ AIS เคเบิล/ดาวเทียม ยังเปิดกว้าง
ประเด็นดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ เมื่อ AIS ซึ่งเป็นผู้นำตลาดให้บริการมือถือ มีเป้าหมายให้บริการคอนเทนต์ผ่านทางมือถือเป็นหลัก และกำลังขยายบริการไฟเบอร์อินเทอร์เน็ต และมีบริการ IPTV มาด้วย การทำสัญญากับ HBO ที่ครอบคลุมในช่องทางที่มีคือ mobile และ IPTV จึงสมเหตุสมผล ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาในส่วนที่ไม่มีธุรกิจ ซึ่งคือ เคเบิลและดาวเทียม
ดังนั้นในทางหนึ่ง HBO จึงมีโอกาสเปิดกว้าง สามารถเจรจากับรายเดิมอย่าง TrueVisions เพื่อให้บริการผ่านเคเบิลและดาวเทียม หรือจะเป็นรายอื่น เช่น ไฟเบอร์วัน ที่จับมือกับกลุ่มเจริญเคเบิลทีวี ก็ได้ ซึ่ง สุภิญญา บอกว่าข้อดีคือ มีการแข่งขันด้านลิขสิทธิ์รายการมากขึ้น ไม่มีการผูกขาดเหมือนในอดีต ผู้บริโภคมีช่องทางรับชมมากขึ้น และยังเป็นการแข่งขันกันทางแพลตฟอร์ม ทั้งทาง ไฟเบอร์ และทางเคเบิล/ดาวเทียม ทางไหนจะเป็นที่นิยมมากกว่า
ตลาดเปิด การแข่งขันเดือด ผู้บริโภคได้ประโยชน์
สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ กสทช. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นคือ ทำให้คอนเทนต์แบบ exclusive ลดน้อยลง เน้นเรื่อง non-exclusive ให้มากขึ้น ยิ่ง non-exclusive มากเท่าไร ผู้บริโภคก็มีช่องทางในการรับชมมากขึ้นเท่านั้น จากนั้นกลไกเรื่องคุณภาพและราคาจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ถ้า AIS จัดแพ็คเกจราคา HBO ออกมาในราคาถูก จะทำให้ผู้บริโภคเลือกสมัครใช้บริการ และทำให้ผู้เล่นรายเดิมต้องลดราคาลงมา ผู้เล่นรายอื่นๆ มีโอกาสเข้ามาทำตลาด เช่น รายล่าสุด GoodTV ทีวีดาวเทียมรายล่าสุดในเครือ Next Step ที่คาดว่าจะออกมาทำตลาดในเร็วๆ นี้ ยิ่งมีผู้ให้บริการมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น
ถ้าทางAISให้บริการHBOในราคาที่ถูกลงได้ การแข่งขันอาจทำให้บริการทีวีบอกรับสมาชิกของรายอื่นต้องปรับราคาให้ถูกลงด้วยเช่นกัน เหมือนกิจการมือถือ
— Supinya Klangnarong (@supinya) February 10, 2017
สรุป
การแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนา และทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะจะเกิดบริการที่ดี มีคุณภาพ ในราคาที่ต่ำลง การผูกขาดคอนเทนต์ให้น้อยที่สุด ก็จะสร้างการกระจายและเข้าถึงที่มากขึ้น กรณีของ AIS เน้นในแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งของตัวเอง แต่ทำให้ HBO ยังมีโอกาสเจรจากับผู้เล่นรายอื่นในตลาด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา