อารมณ์ของคนมีความแตกต่างกันไปในแต่ละวัน สถานการณ์ต่างๆ ที่เราต้องเจอย่อมส่งผลต่ออารมณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งเราอาจมีรู้สึกอารมณ์ดี มีความสุข เศร้า และโกรธ พร้อมๆ กันภายในวันเดียวก็ได้
ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินมาว่า ความโกรธ คืออารมณ์ที่ส่งผลในแง่ลบมากกว่าแง่บวก โดยเฉพาะความโกรธ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความโกรธให้ได้มากที่สุด ทั้งการพยายามไม่โกรธและพยายามที่จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองเมื่อเกิดความโกรธขึ้นแล้ว
แต่ความจริงแล้วอารมณ์โกรธก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีด้วยเช่นกัน ลองสังเกตกันง่ายๆ ทำไมคนบางคนถึงชอบเปิดเพลงที่มีจังหวะดนตรีรุนแรง เร้าใจ ในขณะออกกำลังกาย คำตอบง่ายๆ คือ บางครั้งอารมณ์ความโกรธ ก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวเราเองเช่นกัน
เคยมีนักวิจัยทำการศึกษาสิ่งกระตุ้นที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคน พบว่า คนมีสิ่งกระตุ้นหลักๆ 2 แบบ คือ สิ่งที่กระตุ้นให้เราสามารถอะไรบางอย่างได้สำเร็จตามความต้องการ กับสิ่งที่กระตุ้นให้เราหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่เราไม่ต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจคิดว่าอารมณ์ความโกรธต้องจัดเป็นสิ่งกระตุ้นแบบที่ 2 ที่ทำให้เราอยากหลีกหนีจากสถานการณ์ที่เราไม่ต้องการ แต่ในความจริงแล้วอารมณ์ความโกรธเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราขับเคลื่อนเข้าสู่สิ่งที่เราต้องการมากกว่า
Neus Herreo นักวิจัยจาก University of Valencia ประเทศสเปน พบว่าเมื่อเราเกิดความโกรธแทนที่เราจะพยายามหลีกหนีจากอารมณ์ความโกรธให้เร็วที่สุด แต่ธรรมชาติของร่างกายกลับยิ่งอยากหาคำตอบถึงสาเหตุว่าทำไมเราจึงเกิดอารมณ์แบบนี้ขึ้น
ความโกรธอาจเป็นตัวกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
ข่าวดีสำหรับคนที่โกรธง่าย โกรธบ่อย ในปี 2014 เคยมีการทำการศึกษาพบว่าอารมณ์ในแง่ลบเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแตกต่างจากอารมณ์ในแง่บวกที่เราเคยคิดว่าเป็นผลดี แต่กลับกลายเป็นตัวการที่ยับยั้งความคิดสร้างสรรค์
ที่ผ่านมามีนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการหลายๆ คน ที่ใช้ประโยชน์จากอารมณ์โกรธของตัวเอง ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จ เช่น Daymond John สร้างแบรนด์เสื้อผ้า FUBU ของตัวเอง เพราะโกรธที่แบรนด์อื่นในพื้นที่เดียวกันกล่าวว่า “จะไม่ขายเสื้อให้กับคนขายยา” ซึ่งแบรนด์ FUBU สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี
เจ้าของบริษัทบางคนก็ก่อตั้งบริษัทของตัวเอง หลังจากที่โดนปลดออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทอื่นๆ รวมถึงแอปพลิเคชัน WhatApps, Venmo และ Groupon ก็ใช้อุปสรรคช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 เพื่อก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าความโกรธจะสามารถใช้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่อย่าลืมว่าความโกรธก็ยังมีข้อเสียอยู่เช่นเดิม ดังนั้นหากอยากนำความโกรธมาสร้างพลังในด้านบวก ก็ต้องรู้จักวิธีการจัดการความโกรธของตัวเอง
วิธีเปลี่ยนความโกรธเป็นพลังความสร้างสรรค์การทำงาน
เมื่อเกิดอารมณ์ความโกรธขึ้นมา แทนที่จะจมอยู่กับความโกรธจนกลายเป็นพลังในแง่ลบ ลองทำวิธีเหล่านี้เพื่อฉวยโอกาสใช้ความโกรธเป็นตัวกระตุ้นพลังในแง่ลบของตัวเอง
ฝึกคิด ฝึกเขียน สร้างสรรค์สิ่งใหม่
สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คือ การจำกัดความคิดของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นแล้วเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ความโกรธเกิดขึ้นก็ต้องใช้อารมณ์นั้นให้เป็นประโยชน์ โดยการลองหยิบปากกาขึ้นมาแล้วเขียนไอเดียที่ตัวเองมีลงไปเรื่อยๆ อย่าหยุด และอาจมีการจับเวลาไว้ด้วยก็ได้ว่า ในระยะเวลา 5 นาทีที่เขียน ห้ามหยุดเขียนโดยเด็ดขาด ซึ่งการเขียนเรื่อยๆ โดยไม่หยุดจะช่วยทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ มากกว่า การนั่งนึกเฉยๆ
ถ้าไม่ชอบเขียน เปลี่ยนเป็นวาดก็ได้
ถ้าการเขียนไม่ใช่สิ่งที่ถนัด ลองเปลี่ยนเป็นการวาดแผนผังด้วยรูปทรงชนิดต่างๆ ก็ได้เช่นกัน อย่างที่เราทราบกันดีว่าสมองซีกขวาของเรา จะควบคุมการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ การวาดภาพ ส่วนสมองในซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพูด และการรับรู้ ดังนั้นการจดบันทึกไอเดียที่เกิดขึ้นจากความโกรธอีกทางหนึ่งคือ การจดบันทึกไอเดียด้วยการผสมกันระหว่างการเขียนกับการวาด จะช่วยทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ดี
แบ่งเวลา 90:30 นาที ใน 2 ชั่วโมง
Eugene Aserinsky, Nathaniel Kleitman และ William C. Dement นักวิจัยการนอนหลับ ค้นพบ Pattern การใช้เวลาที่ทำให้เกิดการจดจ่อกับการทำงานมากที่สุด ตั้งแต่ในช่วงปี 1950 พร้อมๆ กับการค้นพบการนอนหลับแบบ REM Cycle โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม สามารถจดจ่อกับการทำงานได้ดีที่สุดคือ 90 นาที แล้วหลังจากนั้นอีก 30 นาที ก็ให้พักผ่อน รวมแล้ว 2 ชั่วโมง ต่อ 1 รอบ จะทำให้สมองสามารถทำงานได้ดี มีสมาธิมากที่สุด ดังนั้นหากอยู่ในช่วงที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะจากอารมณ์โกรธที่เป็นตัวกระตุ้นหรือไม่ ก็ควรแบ่งเวลาออกเป็น 90:30 นาที ต่อ 2 ชั่วโมง เพื่อดึงเอาความคิดที่มีออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด
ที่มา – Fastcompany
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา