ระดับ The Guardian ก็ไม่ไหว ประกาศแผนเตรียมปลดพนักงานราว 180 คน หลังโควิดพ่นพิษหนัก ส่งผลให้จำเป็นต้องปลดพนักงานออก โดย 110 ตำแหน่งจะอยู่ทั้งในส่วนโฆษณา, Guardian Jobs, การตลาด และธุรกิจด้านอีเวนท์ ส่วนอีก 70 ตำแหน่งคือกองบรรณาธิการ
แบกต่อไปไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องปลดพนักงานออกไปบ้าง
ทั้งนี้ บรรณาธิการบริหาร Katharine Viner และ CEO Annette Thomas กล่าวในแถลงการณ์ร่วมถึงพนักงานทุกคนว่า โรคระบาดโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของ The Guardian ไม่แน่นอน โดยคาดว่ารายได้ลดลงกว่า 25 ล้านปอนด์หรือประมาณ 995.1 ล้านบาท จำเป็นต้องลดต้นทุน
ทั้งนี้ The Guardian ยังยืนยันว่าจะให้ผู้คนสามารถอ่านเนื้อหาได้ฟรีต่อไป ไม่ใช้โมเดล paywall (คือโมเดลที่ผู้อ่านอยากอ่านเนื้อหาต้องจ่ายเงิน ถ้าไม่จ่ายเงินจะปิดกั้นเนื้อหา) แบบเดียวกับคู่แข่งรายอื่นๆ ทำ โดยจะมุ่งพัฒนาที่สื่อดิจิทัลให้เติบโตต่อไป และหารายได้จากทางนั้น
โดยเห็นว่าแรงกดดันจากโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ก็สร้างรูปแบบการสานสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับ The Guardian ได้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าปีที่ผ่านๆมานี้ เราใช้โมเดลถูกทางแล้ว อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทก็ค่อยๆ ลดลงตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดราว 223.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 9.29 พันล้านบาท
Thank you very much to our wonderful Guardian readers https://t.co/TXbFUDJbkh
— Katharine Viner (@KathViner) April 29, 2020
ผลิตคอนเทนต์มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ผู้อ่านช่วยเหลือบ้าง เล็กน้อยก็ยังดี
อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน The Guardian ไม่ใช้โมเดลแบบเจ้าอื่น อย่าง The Telegraph ที่เป็นสื่ออังกฤษเหมือนกันจะใช้โมเดล Paywall ปิดกั้นเนื้อหา ขณะที่ The New York Times สื่อยักษ์สัญชาติอเมริกันก็เลือกใช้โมเดล Subscription ที่ราคาไม่แพงให้สมัครสมาชิกเพื่อเข้าอ่านเนื้อหาได้
The Guardian ใช้วิธีผสมผสานกันคือ บอกว่าผู้อ่านอ่านไปจำนวนกี่ครั้งแล้ว ยินดีให้ผู้อ่านเข้าถึงข้อมูลคุณภาพต่อไป และบอกความจริงที่ต้องเผชิญว่าวิกฤตทางรายได้เป็นความท้าทายที่ประสบอยู่ รายได้ค่าโฆษณาลดลง กำลังการผลิตลดลง ผู้อ่านสามารถบริจาคให้กับ The Guardian ได้ แค่เพียง 1 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 31.72 สตางค์ กล่าวคือ สิ่งที่ผู้อ่านกำลังอ่านฟรี แหล่งผลิตคอนเทนต์ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ดังนั้น ผู้อ่านก็ควรจะช่วยแบกรับต้นทุนนี้ไปบ้าง เรียกได้ว่าเป็นโมเดลที่ให้ผู้อ่านร่วมสนับสนุนการผลิตคอนเทนต์ควบคู่ไปกับโมเดล Subcription นั่นเอง
ที่มา – The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา