พยากรณ์เศรษฐกิจโลกปี 2050 ไทยจะโดนฟิลิปปินส์-เวียดนาม แซงหน้า

Price Waterhouse Coopers หรือ PwC บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ของโลก ออกรายงานพยากรณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2050 ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยศึกษาการเติบโตของ GDP ใน 32 ประเทศ

ในรายงานมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

อินเดีย แซงหน้าสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นเบอร์ 2

  • ขนาด GDP ของอินเดีย จะแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับสองของโลก (รองจากจีน) ได้ประมาณปี 2037
  • ในปี 2050 จีนจะมีสัดส่วน GDP โลกที่ 20% ส่วนอินเดียจะมี 15% ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะลดเหลือ 16% และกลุ่มประเทศ EU จะลดเหลือ 9%

กลุ่มประเทศเกิดใหม่ E7 ขนาดเป็นสองเท่าของ G7

  • กลุ่มประเทศเกิดใหม่ ได้แก่ อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก จะขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจขนาด 4-7 ของโลก เบียดญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ให้ตกลงมา
  • กลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่น่าจับตามี 7 ประเทศ เรียกสั้นๆ ว่า E7 (Emerging 7) ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล รัสเซีย เม็กซิโก ตุรกี และในปี 2050 กลุ่มประเทศ E7 จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็น 2 เท่าของกลุ่มประเทศ G7

เวียดนาม GDP เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก

  • ประเทศที่จะเติบโตเร็วที่สุดอย่างน่าจับตาคือ เวียดนาม โตขึ้น 5.1% ต่อเนื่องทุกปี ขนาดของเศรษฐกิจจะขยับจากอันดับ 32 (ปี 2016) ขึ้นมาเป็นอันดับ 20 (ปี 2050)
  • ฟิลิปปินส์ มีอัตราการเติบโตไม่ต่างกันนักคือ 4.3% ต่อปี จะไต่จากอันดับ 28 (ปี 2016) เป็นอันดับ 19 (ปี 2050)
  • ไทย มีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยเพียง 2.6% ต่อปี อยู่อันดับกลางๆ
อันดับการเติบโตเฉลี่ยของประเทศต่างๆ

ไทย โดนฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย แซงหน้า

  • ประเทศไทย จะโดนทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย แซงหน้าในแง่ของขนาด GDP
  • อันดับปี 2016: ไทย (20), มาเลเซีย (27), ฟิลิปปินส์ (28), เวียดนาม (32)
  • อันดับปี 2050: ฟิลิปปินส์ (19), เวียดนาม (20), มาเลเซีย (24), ไทย (25)
อันดับของประเทศไทย ปี 2016-2030-2050

ปัญหาใหญ่ประเทศไทย ประชากรลดลง ติดลบมากเป็นอันดับสาม

  • ประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่จะมีอัตราการเติบโตของประชากรติดลบ (เฉลี่ย -0.3% ต่อปีไปจนถึงปี 2050)
  • ประเทศที่มีปัญหาประชากรลดลงมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น (-0.5%) โปแลนด์ (-0.4%) และไทย (-0.3%) ซึ่งถือว่าไทยมีปัญหานี้หนักเป็นอันดับสาม สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้
  • ปัญหาประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุ จะส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตราการเติบโตของ GDP ด้วย

รายงานฉบับเต็ม สามารถอ่านได้จาก PwC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา