โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรง โดยเฉพาะการค้าและการท่องเที่ยว World Bank คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 5% เป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
อุปสงค์โลกที่อ่อนตัวลงนำไปสู่การหดตัวของการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบกับห่วงโซ่มูลค่าโลก อาทิ รถยนต์ที่ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่โดดเด่นของโลก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 15% ของ GDP ได้รับผลกระทบรุนแรง จากการห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตั้งแต่มีนาคม 2020
มาตรการควบคุมโรคระบาดและการพยายามให้การติดเชื้อลดลงเป็นเรื่องสำคัญแต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกและภาคบริการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ยอดขายสินค้าคงทนลดลงเกือบ 12% ในช่วงไตรมาสแรก อุปสงค์อ่อนแอและราคาพลังงานลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว
การระบาดของโรคจะทำให้เกิดการว่างงานโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากมาตรการควบคุมการติดเชื้อ การเว้นระยะห่างจากสังคม
ผลกระทบต่อสวัสดิการของครัวเรือนก็รุนแรง ครัวเรือนที่ขาดความมั่นคง เช่น คนที่มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.5 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 169 บาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาส 1 ปี 2020 เป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาส 2 ปี 2020 ก่อนจะลดจำนวนลงจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เป็น 7.8 ล้านคนในไตรมาส 3 ปี 2020
แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังใช้เวลาอีกนาน ไม่แน่นอน การบริโภคภายในประเทศอาจเพิ่มขึ้นหลังผ่อนปรนข้อบังคับการเดินทางเคลื่อนย้ายคน แต่ยังจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ การค้าและการหยุดชะงักด้านห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
เศรษฐกิจไทย คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2021 ราว 4.1% และปี 2022 ราว 3.6% กว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ในส่วนของการสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง ไทยมีหลายมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 รวมแล้ว 12.9% ของ GDP โดยเน้นมาตรการผ่อนคลายผลกระทบที่มีต่อครัวเรือนที่เปราะบางและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
องค์ประกอบสำคัญของโครงการเหล่านี้ ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจชุมชน 5.9% ของ GDP รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 2.4% ของ GDP และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2.9% ของ GDP รวมถึงมาตรการลดภาษีและการปรับโครงสร้างหนี้แก่ผู้ประกอบการและครัวเรือน
การช่วยเหลือผู้ประกอบการในอนาคตข้างหน้าต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในขณะที่ต้องแน่ใจว่าครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง
นอกจากนี้ ไทยควรลงทุนเรื่องนโยบายและโครงการตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โครงการอบรมและบริการจ้างงานต้องมีการปฏิรูปเพื่อสะท้อนความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการเพิ่มทักษะการพัฒนาอารมณ์ทางสังคม รวมถึงทักษะปัญญาชั้นสูงและทักษะด้านเทคนิค
ในระยะยาว นโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความยืดหยุ่น ในขณะที่พื้นที่การคลังลดลง การฟื้นฟูกันชนทางการคลังขึ้นใหม่ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากรายรับของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ไทยสามารถรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตรวมถึงสามารถดำเนินแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานตามที่วางแผนไว้
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่า พลังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะขึ้นอยู่กับนโยบายในการรับมือวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบาง ในช่วงเริ่มต้นการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง ทั้งนำมาตรการที่เสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา
เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่อยู่ในภาคการผลิตที่เปราะบางที่สุด การฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง ประมาณกว่า 8.3 ล้านคนจะตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้งานมากมายโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา