จับกระแส Trade Show ในยุคที่จัดงานขายสินค้าไม่พอ ต้องไปร่วมกับอีคอมเมิร์ซด้วย

ก่อนหน้านี้เวลามีงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าต่างๆ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้ง Lazada, Shopee และ JD Central ก็มีจะจัดลดราคาสินค้าประเภทนั้นๆ ชนกับงาน แต่ล่าสุดมันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันแล้ว

thailand mobile expo
บรรยากาศในงาน Thailand Mobile Expo

จากจัดชนเป็นร่วมมือกัน

ปกติแล้วมหกรรมการลดราคาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ จะเป็นการใช้วันที่ตัวเลขวัน กับเดือนตรงกัน เช่น 1/1 หรือ 11/11 แต่นอกจากการทำแคมเปญลดราคาแบบนี้ การจัดแคมเปญลดราคาโดยใช้วัน และเวลาเดียวกับงาน Trade Show ที่ลดราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ หรือของใช้ในบ้าน ก็เป็นอีกวิธีที่ดี

เพราะนอกจากกระตุ้นยอดผู้ซื้อสินค้าแล้ว ยังได้รับอานิสงส์การโปรโมทของผู้จัดงาน Trade Show ในช่วงเวลานั้น ทำให้ผู้ซื้ออาจเข้ามาตรวจเช็คราคาในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ก่อน หากถูกใจก็ซื้อเลย หรือถ้าหากไปที่งานแล้วในเว็บไซต์ถูกกว่าก็สามารถกลับมาซื้อได้เช่นกัน

lazada
ตัวอย่างการจัดงานชน Thailand Mobile Expo ของ Lazada

อย่างไรก็ตามด้วยกระแสอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการระบาดของโรค COVID-19 ช่วยเร่งอัตราการเปลี่ยนผ่านไปสู่การซื้อสินค้าออนไลน์ให้เร็วขึ้น ก็ไม่แปลกที่ผู้จัดงาน Trade Show จะเริ่มหันมามองแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และหารือกันเพื่อหาวิธีให้ทั้งสองฝ่ายเติบโตไปด้วยกันได้

ขายออนไลน์-ออฟไลน์พร้อมกัน

อย่างในกรณี Thailand Mobile Expo (TME) ที่ปกติจะจัดงานจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ 3 ครั้ง/ปี แต่ด้วยครั้งที่ต้องจัดช่วงกลางปีเจอมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ทีมผู้จัดอย่าง M Vision ต้องปรับแผน และหันไปร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีกคอมเมิร์ซต่างๆ

lazada
การร่วมมือของ Lazada กับ Thailand Mobile Expo

“ทางสถานที่ (ไบเทค บางนา) ห้ามจัดงานทั้งฮอลล์ ทำให้พื้นที่หายไป 30-40% บริเวณรอบนอกก็ตั้งบูทไม่ได้ ดังนั้นการร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์น่าจะเป็นอีกวิธีที่ดี เพราะช่วยเรื่องยอดของเราได้ คล้ายกับกรณี “งานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ ครั้งที่ 48” ที่ร่วมกับ Lazada” โอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการ M Vision กล่าว

ทั้งนี้ทางผู้จัด Thailand Mobile Expo ได้ร่วมมือกับ Lazada และ Shopee เพื่อทำแคมเปญพิเศษ เพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อที่ไม่สะดวกมางาน TME ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ค. จับจ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไร ยอดขายบนออนไลน์น่าจะไม่สามารถทดแทนรายได้จากค่าเช่าบูทในช่วงเหตุการณ์ปกติแน่นอน

สหพัฒน์
สหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์

เก็บหน้างานลองบุกออนไลน์เต็มตัว

นอกจากงาน TME ที่จัดงานแบบ Hybrid แล้ว เริ่มมีงาน Trade Show อื่นๆ ที่หันไปจัดงานแค่ช่องทางออนไลน์อย่างเดียว ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ในวันที่ 2-5 ก.ค. เพราะปกติแล้วจะต้องจัดงานในฮอลล์ แต่คราวนี้กลับเลือกเดินหน้าจัดงานเฉพาะช่องทางออนไลน์ และร่วมมือกับ Lazada, Shopee และ JD Central

ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า เพื่อตอบรับกับนโยบายของภาครัฐ ทำให้ต้องยกเลิกงานสหกรุ๊ปแฟร์ที่ต้องจัดที่ไบเทค บางนา และหันมาจัดงานในรูปแบบออนไลน์ 100% ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ออนไลน์ยักษ์ใหญ่

สหพัฒน์
พาร์ทเนอร์ของสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์

สำหรับรูปแบบการจัดงานของสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งนี้ ทางบริษัทจะมีเว็บไซต์กลาง www.sahagroupfair.com เพื่อโปรโมท และลงโปรโมชั่นต่าง โดยสินค้าในเว็บไซต์จะเป็นลิงค์ส่งต่อไปยัง Lazada, Shopee และ JD Central และผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อได้ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านั้นทันที

ไม่ใช่แค่ ผู้บริโภค ร้านค้าก็ซื้อได้

ขณะเดียวกัน เครือสหพัฒน์ยังร่วมมือกับสถาบันการเงิน และกองทุน 11 แห่ง เพื่อให้ส่วนลดเงินสด และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อแบบ B2B หรือร้านค่าต่างๆ ซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อ ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง และตอบรับกับนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย

ais

นอกกจากนี้ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เริ่มจัดงานลดราคาสินค้าบนออนไลน์อย่างเป็นจริงเป็นจัง เช่น AIS ที่จัดงาน AIS 5G Thailand Virtual Expo จากเดิมที่เคยใช้แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าของตัวเองจัดแคมเปญลดราคาในวันที่เลขของวัน และเดือนตรงกัน เช่น 1/1 หรือ 11/11

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS เสริมว่า ระหว่างการจัดงานในวันที่ 29 มิ.ย.-3 ก.ค. มีผู้เข้าชมสินค้ากว่า 9.7 แสนคน โดย 48% มาจากกรุงเทพมหานคร และ 52% จากแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้นการใช้ Virtual Platform ในการจัดงาน น่าจะเป็นอีกวิธีที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้

สรุป

New Normal ของ Trade Show คือการต้องไปจัดจำหน่ายสินค้าในช่องทางออนไลน์แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง หรือการไปร่วมกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ เพราะถึงวิกฤต COVID-19 จบไปแล้ว ผู้บริโภคก็น่าจะคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ และอาจกเลือกไม่ออกจากบ้านในช่วงเวลาเดียวกับงานก็เป็นได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา