มารู้จักกับ IMET MAX โครงการบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ พร้อมเผย Mentor ผู้บริหารแนวหน้าชั้นนำของไทย

ปัจจุบันมีโครงการด้านผู้นำไม่กี่โครงการในประเทศไทยที่จะมีผู้บริหารระดับประเทศจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจพร้อมที่จะให้คำแนะนำไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจ ด้านการจัดการชีวิตส่วนตัว ภายในระยะเวลา 8 เดือน และรวมถึงหลังจากการเข้าอบรมแล้วด้วย

ธนพล ศิริธนชัย (ซ้าย) ประธานโครงการ IMET MAX และ สนั่น อังอุบลกุล (ขวา) – ประธานกรรมการบริหาร IMET

Brand Inside ได้เข้าร่วมการสัมภาษณ์พิเศษกับ คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย หรือ IMET และ คุณธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ IMET MAX (Mentorship Academy for Excellent Leaders) ว่าโครงการดีๆ อย่าง IMET MAX นั้นมีที่มาของโครงการอย่างไร และโครงการนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริหารและผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง และจะสามารถเข้าร่วมโครงการดีๆ แบบนี้ได้เช่นไร

ประวัติของ IMET

จุดเริ่มต้นของ IMET ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ปลายปี 2524 หลังจากที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เยือนสหรัฐฯ นำมาสู่การริเริ่มก่อตั้ง IMET และในช่วงปี 2525 ผู้แทนของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน  ได้เข้ามาสำรวจบรรยากาศในประเทศไทย และทำงานร่วมกับผู้แทนไทย จนมีพิธีลงนามในเดือนกันยายน 2525 และมีการก่อตั้ง IMET ในวันที่ 14 ก.พ. 2526

สำหรับ IMET นั้นก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ 3 สถาบันภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และ 3 สถาบันการศึกษา คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ อีกหนึ่งสถาบันคือ TMA

ขณะที่เงินทุนในการก่อตั้ง IMET ในช่วงแรกมาจากองค์การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development) หรือ USAID ซึ่งได้สนับสนุนในสมัยนั้นประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประธานมูลนิธิตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประกอบไปด้วย ดร. เชาวน์ ณ ศีลวันต์ (2526-2531) ดร.อำนวย  วีรวรรณ (2531-2536) คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา (2536 – 2547) คุณชุมพล พรประภา (2554 – ปัจจุบัน) ซึ่งแต่ละรายเป็นบุคคลคุณภาพของสังคมไทย

โครงการของ IMET จากอดีตสู่ปัจจุบัน

โครงการต่างๆ ของ IMET นั้นมีจุดเริ่มต้นว่า ในอดีตว่าประเทศไทยนั้นมีจุดอ่อนด้านการจัดการ ดังนั้นเป้าหมายของ IMET ในอดีตคือการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในต่างจังหวัดให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น โดยโครงการในอดีตนั้น เช่น โครงการพัฒนานักธุรกิจชั้นนำส่วนภูมิภาค โครงการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางส่วนภูมิภาค

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาช่วยเหลือร่วมมือกับอาจารย์มหาลัย เพื่อต่อยอดพัฒนาบุคลากร เช่น จุฬาฯ-IMET หรือ NIDA-IMET และยังรวมไปถึงเน้นเรื่องธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น คือคนรุ่นเก่า สู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสารเจตนารมณ์ต่อไป

ขณะที่ในยุคปัจจุบัน โครงการของ IMET เช่น บริการคลินิกธุรกิจพี่เลี้ยงอาสาสมัคร การนำธุรกิจไทยไปลงทุนใน กัมพูชา หรือแม้แต่ เวียดนาม และรวมไปถึงโครงการล่าสุดคือ IMET MAX ที่เรากำลังจะกล่าวถึง

IMET MAX คืออะไร

โครงการ IMET MAX นั้นย่อมาจาก IMET Mentorship Academy for Excellent Leaders โดยโครงการดังกล่าวนั้นเป็นการพัฒนาผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ โดยให้เข้ามาเป็นรุ่นน้อง (Mentee) และได้มีโอกาสรับการพัฒนาด้วยกระบวนการเมนเทอริ่ง (Mentoring Process) ซึ่งประกอบด้วยการให้ข้อคิดและชี้แนะแนวทางทั้งในด้านการทำงาน ด้านธุรกิจ จนไปถึงเรื่องการใช้ชีวิตจากพี่เลี้ยง (Mentor)

คุณธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ IMET MAX ได้อธิบายให้ฟังในเรื่องนี้ว่า รูปแบบของการเรียนรู้ ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือ หรือการเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญเกิดจากการที่เราสามารถสะท้อนมุมมอง แนวคิด รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จาก Mentor ที่เป็นผู้นำองค์กรผู้มากประสบการณ์ได้ โดยระยะเวลาของการเรียนรู้ในโครงการนี้จะอยู่ที่ 8 เดือน

โดยโครงการ IMET MAX เริ่มจัดกิจกรรมในรุ่นแรกเมื่อปี 2561 มี Mentor เข้าร่วมทั้งสิ้น 12 ท่าน และมี Mentee เข้ารับการพัฒนาทั้งสิ้น 24 ท่าน ขณะที่รุ่นที่ 2 นั้นจัดขึ้นในปี 2562 ที่ผ่านมามี Mentor เข้าร่วม 12 ท่าน และมี Mentee เข้ารับการพัฒนาทั้งสิ้น 36 ท่าน 

1 ใน Mentor คนสำคัญในรุ่นก่อนหน้า เช่น คุณขัตติยา อินทรวิชัย ในสมัยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เข้าร่วมโครงการ IMET MAX ในฐานะ Mentor รุ่น 1 และ 2 หรือ ศ.(พิเศษ)กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด คุณประภาส ชลศรานนท์ รองประธาน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด เป็นต้น

สำหรับ Mentee ที่จบโครงการนี้ไปต่างก็นำความรู้ และสิ่งที่ได้จากโครงการนำลงไปพัฒนาองค์กรของตัวเองที่ทำอยู่ รวมถึงต่อยอดสิ่งที่ได้จากโครงการนี้มา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้และเรื่องของจริยธรรมด้านต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อสังคมในระยะยาว

ขณะที่การวัดผลของโครงการนั้นมีการทำผลสำรวจและตอบรับ โดยจะเน้นเรื่องสำคัญคือ Social Value เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมา เช่น จิตสาธารณะ ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมานั้น Mentee หลายๆ รายได้ช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็น การบริจาค การร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยเหลือในด้านต่างๆ ฯลฯ

เผย Mentor รุ่น 3

สำหรับ Mentor โครงการ IMET MAX รุ่นที่ 3 นั้นถือว่าเป็นผู้ที่มากประสบการณ์จากหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงินการธนาคาร บริษัทไอทีชั้นนำ บริษัทพลังงาน รวมไปถึงการทำงานในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น

  1. คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (มหาชน) 
  2. ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด  
  3. คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการคลัง สภากาชาดไทย 
  4. คุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
  5. คุณณัฐศักดิ์ โรจนพิเชฐ ที่ปรึกษาธุรกิจ บริษัท อีเลิร์นนิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด 
  6. คุณนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี และกลุ่มบริษัทจีเอเบิล 
  7. คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 
  8. ดร.ประวิช  รัตนเพียร อดีต รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  9. คุณพรรณี  ชัยกุล อดีต ประธานกรรมการ บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย 
  10. ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 
  11. คุณสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)
  12. คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด   

ไม่เพียงแค่นั้น Mentor หลายๆ ท่านเองยังเคยผ่านประสบการณ์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาแล้ว เช่น คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร หรือแม้แต่ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นต้น ซึ่ง Mentee ในโครงการจะได้รับฟังมุมมอง รวมถึงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชวนคิด ในเรื่องต่างๆ ที่มีมิติหลากหลาย

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการนั้นอยู่ในช่วงอายุ 30-45 ปี และมีกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของ Mentee ไว้ 3 ประการ คือ 

  1. เป็นนักบริหารที่มีศักยภาพระดับสูงหรือมีความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
    หรือประเทศชาติ 
  2. เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย 
  3. เป็นผู้ที่มีความต้องการและเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเมนเทอริ่ง

คุณธนพลฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้สมัครเข้าโครงการนั้น ทางโครงการจะเฉลี่ยทายาทธุรกิจ ผู้นำองค์กรของรัฐ องค์กรต่างๆ ที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ รวมไปถึงเกลี่ยชายหญิงเท่ากัน นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำ “คุณค่าเพื่อสังคม” ไปสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมในโอกาสแรกด้วย”

ขณะที่คุณสนั่น ยังได้กล่าวเสริมถึงโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 3 นี้ยังเน้นเรื่องของความเป็นผู้นำ แต่สิ่งที่จะสอนคือมากกว่านั้น เช่น ชวนคิด ช่วยคิด ว่าทำอะไรได้บ้าง ต่อยอดอะไรได้บ้าง และมองว่าโครงการนี้เป็น Lifetime Relationship สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ต่างคนทั้ง Mentor และ Mentee ส่วนใหญ่มาจากคนละอุตสาหกรรมถือว่าแชร์กันแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

ด้านอัตราส่วนผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 3 นี้คือ Mentor 1 ท่าน ต่อ Mentee 3 คน 

สรุป

IMET MAX ถือเป็น 1 โครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่ได้ผู้ที่มากประสบการณ์จากหลากหลายธุรกิจ รวมไปถึงการทำงานในภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย หรือท่านอื่นๆ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวไม่ใช่แค่ต่อยอดเพียงแค่ผู้นำองค์กรหรือทายาทธุรกิจเท่านั้น แต่เป้าหมายของโครงการนี้คือการต่อยอดไปยังสังคมและบุคคลอื่นๆ ภายหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่องค์กร แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยภายหลัง

สำหรับ IMET MAX รุ่นที่ 3 พร้อมรับสมัคร Mentee ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับข้อมูลและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย www.imet.or.th หรืออีเมล์ imetmax3@gmail.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์