เวียดนามได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรับมือกับพายุโควิด-19 ที่สาดซัดไปในทุกประเทศแม้ใครจะมองว่าขาดความพร้อมมากแค่ไหน แถม IMF ยังชมเวียดนามรับมือกับโควิดได้ดี ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ควรดูเป็นตัวอย่าง
เวียดนามเป็นประเทศที่ดำเนินการจัดการกับสถานการณ์โควิดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากจำนวนคนติดเชื้อที่มีเพียง 355 คนเท่านั้นจากประชากรทั้งหมดเกือบ 100 ล้านคนและในจำนวนนี้ไม่มียอดผู้เสียชีวิตเลยตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้นมา
เวียดนามในตอนแรกเป็นประเทศที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงและค่อนข้างอ่อนแอต่อการรับมือสถานการณ์โควิด เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกับจีนโดยตรง รวมถึงพื้นที่เขตเมืองที่ค่อนข้างแออัดและโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่มีอย่างจำกัดทำให้ประเทศต่างๆ มองว่าความพร้อมของเวียดนามต่อการรับมือโรคระบาดครั้งนี้มีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรับมือกับพายุโควิด-19 ที่สาดซัดไปในทุกประเทศแม้ใครจะมองว่าขาดความพร้อมมากแค่ไหนก็ตาม IMF มองว่าเวียดนามเรียนรู้จากการระบาดของโรค SARS ในปี 2003 ว่าประเทศควรให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนก่อนที่จะมากังวลเรื่องเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจัดการกับสถานการณ์ของเวียดนามเป็นไปอย่างรวดเร็ว เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
หลังจากที่จีนมีการรายงานต่อ WHO ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ว่ามีการระบาดของโรคไม่ทราบชื่อในเมืองอู่ฮั่น 21 วันหลังจากนั้น (21/01/63) กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามได้เริ่มทำการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ออกแนวทางการป้องกันและตรวจสอบโรค จัดทำแผนรับมือโควิด และจัดตั้งคณะกรรมการการป้องกันโรคระบาดแห่งชาติขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม
การดำเนินการที่รวดเร็วของเวียดนามช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายสามารถประสานงานและดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
รัฐบาลของเวียดนามใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีและการดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดมาเป็นจุดแข็งในการรับมือกับสถานการณ์โควิดโดยมีกำลังสำคัญคือ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ในการขอความร่วมมือและบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย การจัดเตรียมเจลล้างมือไว้ให้บริการตามที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงที่ทำงานและตึกที่อยู่อาศัย
ทั้งยังมีการควบคุม-จำกัดการเดินทางภายในประเทศนานถึงสามสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน กิจกรรมสาธารณะทั้งหมดก็ถูกสั่งให้ยกเลิก รัฐบาลเวียดนามประกาศปิดโรงเรียน มีคำสั่งให้สกรีนคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวดและต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง เวียดนามไม่สามารถที่จะทำการตรวจเชื้อโควิดเป็นจำนวนมากอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วใหญ่ๆ ทำได้ เวียดนามใช้วิธีเน้นการติดตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและกลุ่มต้องสงสัยอย่างครอบคลุมแทนโดยทำการตรวจตั้งแต่กลุ่มผู้ใกล้ชิดไปจนถึงกลุ่มผู้ติดต่อลำดับที่สามแล้วให้ทำการแยกและกักตัว หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแต่อาศัยอยู่ในเขตหรือพื้นที่ละแวกเดียวก็จะต้องตรวจด้วยเช่นกัน
ถ้ามีคนในหมู่บ้านติดเชื้อทุกคนในหมู่บ้านนั้นจะต้องโดนตรวจและกักตัวทั้งหมด แม้แต่คนที่อาศัยอยู่บนช่วงถนนเดียวกันก็ต้องโดนตรวจด้วย เพื่อจำกัดขอบเขตของการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยค่ารักษาและค่าใช้จ่ายทั้งหมดรัฐบาลเป็นคนออกให้
ความร่วมมือของคนในประเทศเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ตอนเริ่มแรก เวียดนามสื่อสารกับประชาชนในประเทศอย่างชัดเจนเกี่ยวกับไวรัสโควิด ทั้งอาการ มาตรการป้องกัน และสถานที่ตรวจเชื้อ ผ่านสื่อ เว็บไซต์ของรัฐบาล องค์กรท้องถิ่น โปสเตอร์ต่างๆ มีการส่งข้อความแจ้งในมือถือ รวมถึงเปลี่ยนสัญญาณรอสายเป็นข้อความเกี่ยวกับโควิด และยังออกแอพพลิแคชันติดตามผู้ติดเชื้อ (tracing app) ในเมืองใหญ่ๆ อีกด้วย การบริหารจัดการที่ดีผ่านช่องทางต่างๆ นี้เองที่ส่งผลให้ประชาชนเชื่อมั่นและให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันการระบาดของเวียดนามเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ แม้เวียดนามจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ แต่เพราะการรับมือที่ดีส่งผลให้เศรษฐกิจของเวียดนามฟื้นตัวไวมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้และยังเป็นประเทศที่ถือว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจของเวียดนามจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (เติบโตเฉลี่ย 7%) ได้อีกครั้ง เวียดนามยังจำเป็นต้องรอให้สถานการณ์ของคู่ค้าประเทศอื่นๆ ของเวียดนามดีขึ้นมากกว่านี้ก่อน
อ่านเพิ่ม
ที่มา: Worldometers, IMF
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา