จีนกำลังเจอกับปัญหารุมเร้ารอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังย่ำแย่ สงครามการค้ากับอเมริกา-ออสเตรเลีย ปัญหาประท้วงในฮ่องกง ล่าสุดปัญหาข้อพิพาทขัดแย้งในเขตพรมแดนจีน-อินเดียที่นักวิเคราะห์มองว่าจีนกำลังพยายามแสดงออกว่าตัวเองไม่ได้อ่อนแอ
เหตุการณ์พิพาทชายแดนจีน-อินเดียที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์พิพาทชายแดนครั้งแรกที่เกิดการสูญเสียในระยะเวลาเกือบ 50 ปีระหว่างจีนกับอินเดีย หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้ทำการลงนามข้อตกลงรักษาสันติและได้ทำการตกลงให้แนวเขตพรมแดนเทือกเขาหิมาลัยหรือบริเวณเส้นควบคุมแท้จริง (Line of Autual control หรือ LAC) เป็นเขตปลอดอาวุธเพื่อป้องกันและลดการเกิดเหตุการณ์พิพาทชายแดนระหว่างสองประเทศหลังจากที่เคยปะทะกันรุนแรงมาแล้วในปี 1962 และ 1967
อย่างไรก็ตาม สัญญารักษาความสงบในพื้นที่ควบคุมแท้จริงและความปรองดองอันเปราะบางของทั้งสองประเทศก็กลับมาคุกรุ่นอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์ซุ่มโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าทหารฝั่งจีนได้ทำการกักน้ำในลำธารรอให้พลลาดตระเวนของอินเดียเดินเข้าไปในบริเวณนั้นแล้วทำการปล่อยน้ำที่เต็มไปด้วยท่อนไม้ที่มีตะปูออกมา
เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พลลาดตระเวนของอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นาย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง และอีกหลายรายถูกจับเป็นนักโทษ (เกิดการสูญเสียในฝั่งจีนเหมือนกันแต่ไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ)
หลังจากเหตุการณ์ปะทะในวันเสาร์ที่ผ่านมา (21/06/2563) ทางการของจีนได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็นความจงใจยั่วยุของอินเดียและได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าโครงการก่อสร้างของอินเดียไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมแท้จริงอย่างที่จีนกล่าวอ้างแต่อยู่ในพื้นที่เขตแดนของอินเดียเอง นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณปะทะในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่จีนเริ่มมีการสร้างฐานทัพที่มั่นคงและมีการออกลาดตระเวนถี่มากขึ้นในแถบบริเวณพื้นที่ควบคุมแท้จริง
ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่เหตุการณ์ซุ่มโจมตีที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาในพื้นที่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบหรือผ่านการอนุมัติจากผู้บัญชาการสูงสุดก่อน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่านี่ไม่ใช่เวลาที่ดีที่จีนจะมีปัญหากับเพื่อนบ้าน เพราะในเวลานี้จีนมีเรื่องและปัญหาความขัดแย้งที่ต้องจัดการมากเกินไป ทั้งปัญหาในประเทศอย่างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นจุดต่ำสุดของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศนับตั้งแต่ช่วงปี 1970 ไม่ใช่แค่นั้นจีนยังมีปัญหาปฏิวัติฮ่องกงที่ยังคงเรื้อรังอยู่ แถมยังถูกต่อว่าและคัดค้านจากนานาประเทศหลังจากที่จีนแสดงจุดยืนและดำเนินการผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อยุติความเคลื่อนไหวและการประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกง
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ จีน-ออสเตรเลีย และ จีน-แคนาดาเองก็กำลังย่ำแย่ จีนได้ทำการเปิดสงครามทางการค้ากับออสเตรเลียหลังจากที่ออสเตรเลียพยายามอย่างหนักที่จะตรวจสอบต้นเหตุที่มาของไวรัส COVID-19 ส่วนความสัมพันธ์ของจีนกับแคนาดานั้นก็ยังคงตึงเครียดจากกรณีที่รัฐบาลแคนาดาทำการจับกุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Huawei ตามคำของของรัฐบาลสหรัฐฯ
จากปัญหาทั้งหมดที่รุมเร้าทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าเหตุการณ์ตึงเครียดในพื้นที่พิพาทของจีนกับอินเดียในสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจเกิดจากภาวะเครียดที่จีนกำลังเผชิญทั้งจากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ และเลือกที่จะแสดงออกว่าจีนไม่ได้กำลังอ่อนแอในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม วันอังคารที่ผ่านมา Zhao Lijian โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมากล่าวว่าทั้งสองประเทศได้ทำการพูดคุยและตกลงที่จะลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยได้มีการพยายามพูดคุยและปรึกษาหารือในส่วนที่แต่ละฝ่ายเห็นไม่ตรงกันเพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วและไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่บานปลายอื่นๆ
ทั้งนี้ Zhao Lijian กล่าวว่า “ทั้งสองประเทศได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและตกลงที่จะรักษาความสงบในพื้นที่ชายแดนนั้นต่อไป”
ที่มา: The Guardian, Aljazeera
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา