นอกจากการแข่งขันเรื่องความครอบคลุม รวมถึงประสิทธิภาพของโครงข่ายแล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายยังแข่งเรื่องสิทธิประโยชน์ หรือ Privilege ด้วย แต่แบรนด์ที่เหมือนจะ Active น้อยที่สุดก็คือ dtac นี้เอง
มีเหมือนไม่มี หรือผู้ใช้ไม่รู้กันแน่
หากเทียบค่ายมือถือกังหันสีฟ้า กับ AIS และ True ในเรื่องสิทธิประโยชน์นั้น ต้องยอมรับว่า 2 ค่ายหลังมีการ Active เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับค่ายสีแดงที่ส่งสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ มาโดยตลอด ผ่านการร่วมมือกับเกือบทุกอุตสาหกรรม ไม่ได้เน้นที่งานบริการอย่างเดียว เพื่อสร้างความรู้สึกแตกต่าง และสื่อให้ผู้ใช้ในระบบรับรู้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ส่วนค่ายสีเขียวนั้นก็ใช้จุดนี้เป็นแกนในการยกระดับผู้ใช้ในระบบให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น ไม่ได้มีแค่โครงข่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างเดียว
แล้วทำไมผู้ใช้งาน dtac ถึงไม่ค่อยรับรู้สืทธิ์ประโยชน์ที่บริษัทร่วมทำกับ 10,000 บริษัทเมื่อสิ้นปีก่อน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับร้านอาหาร?
เพ็ญพงา สุทธิมณฑล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้า ของ dtac ยอมรับว่า ถึงสิ้นปี 2559 บริษัทมีผู้ใช้งานในระบบราว 24.5 ล้านเลขหมาย และทุกเลขหมายมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่กลับมีผู้ใช้งานเพียง 1.2 ล้านเลขหมายที่ใช้งานสิทธิ์ประโยชน์ที่มีให้ แม้บริษัทจะเร่งประชาสัมพันธ์ พร้อมกับใช้งบประมาณราว 400 ล้านบาท เพื่อร่วมทำแผนการตลาดกับร้านอาหารในกลุ่มไมเนอร์ เช่น The Pizza Company และ Sizzler รวมถึงร้าน Fast Food เบอร์หนึ่งอย่าง McDonald’s อีกด้วย
ติดสปีดสื่อสาร หลังเกือบครึ่งใช้เพื่อดูหนัง
“1.2 ล้านเลขหมายที่ใช้สิทธิประโยชน์ของ dtac เมื่อปีก่อนนั้น สัดส่วน 40% มาจากการใช้เพื่อรับชมภาพยนตร์ในราคาพิเศษ ส่วนเรื่องงานบริการ รวมถึงเกี่ยวกับร้านอาหารกลับมีคละๆ กัน ทำให้จากนี้บริษัทต้องสื่อให้ผู้ใช้งานในระบบรู้ว่าเรามีสิทธิประโยชน์มากกว่า 10,000 รายการ โดยปีนี้จะใช้งบประมาณ 450-500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพาร์ทเนอร์ และสร้างสื่อใหม่ๆ เพื่อสื่อสารให้กับผู้ใช้งานในระบบรับรู้ พร้อมกับรักษาความแข็งแกร่งในกลุ่มบริการรับชมภาพยนตร์ในราคาพิเศษเช่นเดียวกัน”
โดย dtac ได้ร่วมกับโรงภาพยนตร์เครือ SF มามากกว่า 10 ปี ทำให้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการรับชมภาพยนตร์นั้นแข็งแกร่งมาก
สำหรับสิทธิประโยชน์ของ dtac จะแบ่งเป็นกลุ่ม Blue Member หรือเลขหมายที่มียอดใช้งานมากว่า 2,000 บาท/เดือน จำนวน 2.2 แสนเลขหมาย, dtac Reward Xtra หรือเลขหมายที่มียอดใช้งานมากกว่า 1,000 บาท และที่เหลือเป็น dtac Reward โดยจากการทุ่มงบประมาณครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดผู้ใช้งานสิทธิประโยชน์ 3 เท่าตัวจากยอดใช้ของปี 2559 ที่สำคัญการลงทุนครั้งนี้เป็นเม็ดเงินที่แยกจากการลงทุนโครงข่าย 20,000 ล้าน และเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยรักษาผู้ใช้บริการในโครงข่ายให้อยู่ในระบบนานขึ้น
สิทธิประโยชน์ลด Churn Rate ได้จริงไหม
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทุกรายหันมาใช้กลยุทธ์สิทธิประโยชน์ ก็เพื่อสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง เพราะเมื่อการส่งสัญญาณก็ใช้เทคโนโลยีที่คล้ายๆ กัน ประกอบกับผู้บริโภคยังไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากขนาดนั้น ขอแค่เวลาโทรศัพท์สัญญาณไม่หาย และเล่นอินเทอร์เน็ตได้ไม่สะดุดก็พอ ดังนั้นการมีสิทธิประโยชน์ก็น่าจะสร้างความแตกต่างได้ และความแตกต่างนี้เองทำให้เป็นอีกปัจจัยในการตัดสินใจเลือกใช้บริการโครงข่ายของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งอีกด้วย
จากเหตุนี้เองทำให้เบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง AIS ตัดสินใจลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2559 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าด้วยความเป็น Serenade ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนทาง True ก็มี TrueYou ที่แข่งขันกับพี่ใหญ่ได้อย่างสูสี จึงแสดงให้เห็นถึงเหตุผลของการดึงดูดลูกค้าทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่ สามารถทำได้โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เข้าไปได้ ดังนั้นจากนี้ต้องคอยติดตามว่าค่ายกังหันสีฟ้าจะส่งสิทธิประโยชน์มาตอบโจทย์ได้ทันหรือไม่ หลังผลประกอบการล่าสุดไม่สู้ดีนัก ผ่านตัวเลขผู้ใช้บริการที่หายไปถึง 8 แสนเลขหมายเลยทีเดียว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา