บทเรียนจาก KBank ระบบล่ม สัญญาณบ่งชี้ถึงปริมาณธุรกรรมคนไทยพุ่งสูง

ช่องทางการทำธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทย

กลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ประจำสิ้นเดือน เมื่อระบบไอทีของธนาคารกสิกรไทย (KBank) ล่มทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบออนไลน์ มือถือ เอทีเอ็ม หรือแม้กระทั่งการทำธุรกรรมผ่านสาขาทั่วประเทศ

แม้แต่พิธีกรคนดังอย่าง สรุยทธ สุทัศนะจินดา ยังร่วมแชร์ภาพป้ายที่สาขาแห่งหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย ที่ขออภัยผู้มาใช้บริการว่าระบบล่ม และมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในทุกช่องทางโซเชียล

ต้นฉบับจากเพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา

คาดระบบ Core Banking ล่ม ส่งผลให้ล่มทั้งระบบ

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ระบบธนาคารล่มช่วงสิ้นเดือนไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก แต่เกิดติดต่อกันมาหลายเดือนแล้ว และไม่ได้เกิดกับธนาคารกสิกรไทยเพียงแห่งเดียว ธนาคารใหญ่รายอื่นๆ ก็เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาแล้วเช่นกัน

ส่วนสาเหตุของระบบ KBank ล่ม ตอนนี้ยังไม่มีการแถลงข้อมูลอย่างเป็นทางการของธนาคาร แต่ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าเป็นเพราะความต้องการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงสิ้นเดือน จนระบบรองรับไม่ไหวนั่นเอง

ปกติแล้ว ระบบหลักของธนาคารใดๆ ที่ทำเรื่องโอนจ่ายถอนฝากระหว่างบัญชี จะเรียกว่าระบบ core banking หรือระบบธนาคารหลัก จากนั้นระบบไอทีแต่ละส่วน เช่น ระบบงานสาขา ระบบงานเอทีเอ็ม ระบบธนาคารออนไลน์ ระบบธนาคารผ่านมือถือ จะมาเชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลเข้ามายัง core banking อีกทีหนึ่ง ที่ผ่านมาเราเคยเห็นระบบไอทีบางส่วนล่มลงไป เช่น เอทีเอ็มของบางธนาคารใช้งานไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วระบบ core banking ยังทำงานได้อยู่

ในกรณีนี้เมื่อระบบ core banking ล่ม จึงส่งผลให้ระบบทั้งหมดใช้งานไม่ได้ และปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น แต่ในการโอนเงินข้ามธนาคารมาจากธนาคารอื่น ก็ไม่สามารถทำได้เพราะระบบของ KBank ล่ม คำสั่งการทำธุรกรรมของลูกค้าธนาคารอื่นจึงค้างอยู่ในระบบ และส่งผลให้ระบบไอทีของธนาคารอื่นโหลดหนักเช่นกัน ถึงแม้ระบบไม่ล่มตามไปด้วยแต่ก็อาจกระทบต่อการใช้งานของลูกค้าในแง่ความเร็วในการตอบสนองธุรกรรมอยู่บ้าง

คำชี้แจงจาก Facebook Kbank Live

สัญญาณบ่งชี้ อัตราการใช้งานธุรกรรมคนไทยเพิ่มสูงมาก

ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย ทำผลงานได้โดดเด่นในตลาดธนาคารบนมือถือ และแอพ K-Mobile Banking PLUS ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง (ยอดดาวน์โหลดเกิน 5 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์ม Android ซึ่งถือว่าสูงกว่าแอพของธนาคารคู่แข่งรายอื่น)

ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นเจ้าตลาดลูกค้ากลุ่ม SME อยู่แต่เดิมแล้ว และเมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซ ขายของออนไลน์บูม ก็ไม่น่าแปลกใจที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่นิยมใช้บริการของ KBank รับจ่ายเงินค่าสินค้า ซึ่งก็ส่งผลให้ลูกค้ารายย่อยที่ซื้อของออนไลน์ นิยมใช้ KBank ตามไปด้วย

ด้วยความต้องการทำธุรกรรมออนไลน์ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ บวกกับสถานการณ์ช่วงสิ้นเดือนที่ภาคธุรกิจนิยมทำธุรกรรมกันในช่วงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เราจะเห็นปัญหาระบบล่มเป็นประจำทุกสิ้นเดือน

ทางแก้ในระยะยาวคงไม่มีทางอื่น นอกจากฝ่ายไอทีของ KBank จะต้องแก้ปัญหาทางเทคนิคเพื่อให้ระบบทำงานต่อไปได้ รองรับต่อโหลดปริมาณมหาศาลได้ดีพอ

แต่ในอีกทาง สถานการณ์นี้ (ที่ธนาคารหลายแห่งต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ KBank) ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คนไทยเองก็นิยมทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเหล่านี้ กลายเป็นเส้นเลือดสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ต้องลงมาดูแลอย่างจริงจัง

ทางแก้ปัญหา (ชั่วคราว) สำหรับลูกค้า

ปัญหาระบบล่มทุกสิ้นเดือนคงไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ในฐานะลูกค้าของธนาคาร ก็ต้องหาวิธีเอาตัวรอดเบื้องต้นไปก่อน เช่น

  • เปิดบัญชีธนาคารอื่นสำรองไว้ และเตรียมตัวกับคู่ค้าทางธุรกิจให้พร้อม ว่าถ้าหากระบบของธนาคารหลักที่ใช้ประจำล่ม จะเปลี่ยนไปโอนเงินผ่านธนาคารไหนแทน เพื่อไม่ให้ฉุกละหุก
  • ในกรณีที่เป็นลูกค้ารายย่อย โอนเงินระหว่างบุคคลโดยไม่จำเป็นต้องให้เงินเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง (เช่น ยังไม่รีบถอนเงินสดออกมาใช้จ่ายในวันนั้น) อาจพิจารณาระบบ mobile money ตัวอื่น เช่น Rabbit Line Pay, True Money, mPay, AirPay หรือแม้กระทั่ง PayPal แทน
  • ภาคธุรกิจอาจต้องขยับวันจ่ายเงินให้ห่างจากสิ้นเดือนมากขึ้น เช่น อาจต้องเริ่มทำธุรกรรมตั้งแต่วันที่ 25 หรือก่อนหน้านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่คนทำธุรกรรมกันมากๆ นอกจากนี้ การตั้งเวลาทำธุรกรรมล่วงหน้าอัตโนมัติ ยังถือเป็นอีกทางเลือกที่ใช้ได้เช่นกัน

วิธีการเหล่านี้คงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนัก แต่ในช่วงที่เราไม่รู้ว่า สิ้นเดือนหน้าจะเกิดปัญหาแบบเดิมอีกหรือไม่ การหาทางออกหรือมาตรการป้องกันเตรียมไว้ล่วงหน้า ก็ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และไปเผชิญหน้ากับโชคชะตาในช่วงสิ้นเดือน

ประกาศขออภัยระบบมีปัญหาของธนาคารกสิกรไทย ช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2559

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา