หลังจากที่ Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียร์ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนเป็นต้นไป ผู้ที่ทำงานในวงการ Hollywood จะกลับมาถ่ายทำภาพยนตร์และผลิตรายการโทรทัศน์ได้ตามปกติ ถือเป็นการกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของเจ้าพ่อแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หลังจากห่างหายไป 3 เดือน เพราะสถานการณ์โควิด
สหภาพแรงงาน Hollywood ร่วมกับ Alliance of Motion Picture and Television Producers (AMPTP) ได้ออกประกาศ white paper เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประกาศฉบับนี้ได้นำเสนอวิธีการถ่ายทำภาพยนตร์ และผลิตรายการโทรทัศน์อย่างปลอดภัยในยุคหลังโควิด
Hollywood, Disney, Netflix และ Warner Bros ได้ร่วมกันส่ง white paper ไปให้แก่หน่วยงานภาครัฐของแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ค เช่นเดียวกับฝั่ง Bollywood ที่ Producer’s Guild of India ได้ออก ข้อตกลง เพื่อกลับมาถ่ายทำภาพยนตร์อีกครั้ง
New Normal ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
นี่คืออีกก้าวที่สำคัญของวงการภาพยนตร์ในอนาคต จุดประสงค์หลักของข้อตกลงฉบับนี้ คือเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส และสร้าง new normal ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ทั่วโลก โดยใช้หลายๆ วิธีการด้วยกัน
- ลดฉากที่เกี่ยวกับการร่วมเพศและฉากต่อสู้
ฉากต่อสู้หรือฉากที่นักแสดงต้องอยู่ใกล้ชิดกันจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสได้ ดังนั้น ทาง Hollywood จึงพยายามจัดให้มีฉากที่นักแสดงสัมผัสกันน้อยที่สุด โดยวิธีการเปลี่ยนสคริปท์บ้าง ใช้การตัดต่อบ้าง
- ยกเลิกผู้ชมในห้องส่ง
อันที่จริงแล้ว ในข้อตกลงก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการมีผู้ชมในห้องส่ง แต่ก็ไม่ถึงกับห้ามโดยสิ้นเชิง ให้ขึ้นอยู่กับกรณีไป แต่อย่างไรก็ต้องรักษานโยบาย social distancing โดยสวมหน้ากากอนามัย และวัดไข้ก่อนเข้าสู่สถานที่ถ่ายทำเสมอ
การถ่ายทำละครซิทคอมก็จะเปลี่ยนมาใช้ซาวด์แทร็คเสียงหัวเราะแทนเสียงหัวเราะของผู้ชมในห้องส่ง ส่วนรายการทอล์คโชว์ที่ในช่วงโควิดทำผ่าน Zoom, FaceTime และ Skype ก็ได้กลับมาถ่ายทำที่สตูดิโอโดยไม่ต้องมีผู้ชมในห้องส่งแล้ว
- ลดการใช้สคริปท์แบบกระดาษ
ในข้อตกลงระบุว่า ทาง Hollywood จะลดการใช้กระดาษให้เหลือน้อยที่สุด และหันมาใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์แทน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้สคริปท์แบบกระดาษจริงๆ ก็จะแจกให้เป็นรายบุคคล ไม่ให้ใช้ร่วมกัน
- ลดจำนวนวันทำงานลง
ทาง Hollywood จะลดจำนวนวันทำงานลง และจะพยายามไม่ให้คนมาทำงานต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส
ทาง The International Cinematographers Guild ก็ได้ออก ข้อตกลง ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าให้เพิ่มวันหยุดให้กับพนักงาน จะได้มั่นใจว่าพนักงานได้รักษาสุขภาพ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าจะลดวันทำงานลง ทีมงานก็ต้องใช้เวลาถ่ายทำยาวนานกว่าเดิม เช่น การถ่ายทำที่ปกติใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ก็จะใช้เวลาเพิ่มเป็น 1 เดือน เป็นต้น ข้อเสีย คือนักแสดงอาจจะต้องเหนื่อยนานขึ้น และต้องเพิ่มงบประมาณการถ่ายทำ
- ทำให้การแต่งหน้าและแต่งตัวของนักแสดงง่ายขึ้น
แน่นอนว่าคนที่ทำหน้าที่เป็น costume designer, makeup artist และ hairstylist ซึ่งต้องใกล้ชิดกับนักแสดงก็จะทำงานได้ยากขึ้นในช่วงหลังโควิดนี้
วิธีการแก้ไข คือทางทีมงานต้องจัดเครื่องแต่งกายที่นักแสดงสามารถแต่งด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องมีคนมาช่วยเหมือนช่วงก่อนโควิด เช่น ควรปรับเครื่องแต่งกายที่ใช้ถ่ายทำในหนังย้อนยุคให้แต่งได้ง่ายขึ้น
ในข้อตกลงระบุว่า ณ สถานที่ถ่ายทำต้องมีสัญลักษณ์บอกให้คนอยู่ห่างกันในระยะ 6 ฟุต ไว้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีการแต่งหน้าหรือแต่งตัว ซึ่งทุกคนควรสวมมาส์กและถุงมือเสมอ
- มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบว่าคนปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่
เจ้าหน้าที่จะมาตรวจสอบว่าพนักงานปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ ในทุกๆ สถานที่ถ่ายทำ เพื่อจะได้รับทราบหากทีมงานหรือนักแสดงพบกับปัญหาอะไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องผ่านการอบรมเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพ การป้องกันการติดเชื้อ และการรักษาระยะห่างมาแล้ว รวมถึงต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม
ต่อจากนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับการถ่ายทำ
แน่นอนว่าผลของข้อตกลงเหล่านี้ คือต้องใช้งบประมาณมากขึ้นสำหรับการถ่ายทำ ทั้งค่าอุปกรณ์เสริม ค่าบุคลากรใหม่ๆ ค่าประกันสุขภาพ ค่าตัดต่อที่ต้องใช้มากขึ้น รวมถึงค่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้แทนคน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังมีข้อดี คือสามารถประหยัดเงินค่าเดินทางเพื่อไปถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ เพราะต้องเดินทางน้อยลง รวมถึงประหยัดเงินค่าจ้างผู้ชมในห้องส่ง เพราะหันมาใช้ซาวด์เอฟเฟคแทน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนอื่นๆ
สรุป
ไม่ว่าจะบริษัทขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำที่แพงขึ้นกันถ้วนหน้า ทั้งนี้ก็ยังดีกว่างดการถ่ายทำไปเลยในช่วงโควิดที่ผ่านมา
ที่มา: Quartz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา