COVID-19 ทำให้หลายบริษัทมีปัญหา และ Daikin ก็คือหนึ่งในนั้น ทำให้บริษัทตัดสินใจปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ด้วยการเดินหน้าทำตลาดเครื่องฟอกอากาศที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้
กำไรลดลง 2 ปีติดในรอบ 10 ปี
แม้จะยังไม่สิ้นสุดปีปฏิทิน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาผ่านการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ Daikin คาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานในปีปฏิทินปัจจุบัน (เม.ย. 2563-มี.ค. 2564) ว่าจะลดลง 44% เหลือ 1.5 แสนล้านเยน (ราว 43,500 ล้านบาท) หลังจากปีปฏิทินก่อนหน้านี้ลดลง 4%
“บริษัทจะเฝ้าดูสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อปรับแผนธุรกิจได้ทันท่วงที ที่สำคัญคือบริษัทจะไม่ได้ผ่านวิกฤตนี้ด้วยการตั้งรับที่แข็งแกร่ง แต่จะเปิดเกมรุกด้วยการทำตลาดเครื่องฟอกอากาศที่ก่อนหน้านี้มีการทำตลาดมาบ้างแล้ว และคาดว่ามันจะช่วยฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” Masanori Togawa ประธาน Daikin กล่าว
ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ Daikin มีกำไรลดลงติดต่อกัน 2 ปี โดยครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ส่วนแผนธุรกิจของ Daikin หลังจากนี้จะประกอบด้วย 6 เรื่องคือ ปรับปรุงระบบจัดซื้อ, การผลิต และการขนส่ง, ยึดส่วนแบ่งการได้เอาไว้ได้เหมือนเดิม, สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่, ลดค่าใช้จ่าย, ลงทุน และระดมทุนเพิ่ม
ความต้องการเครื่องฟอกอากาศมีแล้ว
ปัจจุบันความต้องการเครื่องฟอกอากาศที่ป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 เริ่มหลั่งไหลเข้ามาแล้ว เช่นประเทศสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดของโรคนี้ ทำให้ Daikin เตรียมขยายกำลังการผลิตผ่านการจ้างโรงงานในประเทศจีน พร้อมกับตั้งเป้าจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ 5.5 แสนตัวในปีปฏิทินปัจจุบัน
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีปฏิทินก่อนหน้านี้ ที่สำคัญยังอยู่ระหว่างพิจารณาใช้โรงงานผลิตในประเทศมาเลเซียเพื่อเพิ่มกำลังผลิตสินค้าดังกล่าวด้วย แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของ Daikin ที่ก่อนหน้านี้เคยพลิกวิกฤตด้วยการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศเทคโนโลยีใหม่มาแล้ว
เดินหน้าทำตลาดออนไลน์ปั้นยอด
ขณะเดียวกัน Daikin เตรียมรุกตลาด E-Commerce ในประเทศจีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศได้ดีขึ้น โดยเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้ ยอดขายในปีปฏิทินที่เพิ่งสิ้นสุดไปจะเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า และกำไรเพิ่มขึ้น 6 เท่า และยอดขายเครื่องปรับอากาศในเอเชียมีมูลค่าถึง 2.95 แสนล้านเยน (ราว 85,000 ล้านบาท)
สรุป
ช่วงเวลานี้ใครปรับตัวได้ดีที่สุดย่อมเป็นผู้ชนะในตลาด เพราะวิกฤต COVID-19 สร้างผลกระทบในทุกอุตสาหกรรม ทำให้หลังจากนี้จะเห็นบริษัทต่างๆ พยายามปรับตัวเพื่อรับความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภค และบริษัทไหนที่ทำไม่ได้ ก็จะต้องตายจากไปแน่นอน
อ้างอิง // Asian Nikkei Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา