สยามสแควร์ หนึ่งในย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่รวบรวมการใช้ชีวิตของคนไทยในทุกรูปแบบ ทั้งวัยเรียน และวัยทำงาน หรือแม้แต่ครอบครัว ที่มักมีเหตุผลในการเดินทางมาที่สยามสแควร์แตกต่างกัน บางคนก็มาแฮงค์เอ้าท์ พักผ่อนกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียน เลือกซื้อของกินอร่อยๆ ซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นสวยๆ หรือแม้แต่บางคนก็มารอรับลูกหลังเลิกเรียนพิเศษ
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สยามสแควร์เป็นแหล่งที่รวบรวมการใช้ชีวิตของคนในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่สยามสแควร์ก็ยังสามารถยืนหยัด และปรับตัวอยู่รอดกับวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้
ธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ก็เป็นอีกหนึ่งธนาคารสำคัญที่อยู่คู่กับสยามสแควร์มานานกว่า 50 ปี แน่นอนว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ก็ต้องมีการปรับปรุงหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตของคนในแต่ละยุค ซึ่งล่าสุดสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) มีโครงการที่จะปรับปรุงสยามสแควร์ ให้กลายเป็น Walking Street แห่งใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
กสิกรไทย สาขาสยามสแควร์โฉมใหม่ จากแนวคิด สู่การออกแบบจริง
ธนาคารกสิกรไทย จึงมีความต้องการที่จะปรับปรุงธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ให้เข้ากับความเป็น Walking Street ของสยามสแควร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยการเปิดโอกาสให้กับนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 ได้แสดงความสามารถ และทดลองประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาเพื่อออกแบบธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ โดยธนาคารกสิกรไทย จะนำเอาแนวคิดของกลุ่มนิสิต ไปใช้ร่วมกับการออกแบบจริง
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าธนาคารกสิกรไทย มีปณิธานที่ต้องการจะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ต้องการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องครอบคลุมในทุกๆ มิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการบริการ การเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการลงมือทำ ซึ่งธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และต้นแบบในการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบจับต้องได้ในอนาคต
ส่วนด้านขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่าต้องการปรับปรุงธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ให้กลายเป็นจุดเด่นของสยามสแควร์ มีพื้นที่ที่ใช้ในการทำกิจกรรม กลมกลืนกับกิจกรรมภายนอก และต้องการสะท้อนแนวคิดการออกแบบของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการประหยัดพลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงบันดาลใจ
ผลงานการออกแบบของกลุ่มนิสิตจากทั้งสองคณะ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามายังรอบสุดท้ายมีทั้งหมด 8 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ชนะรางวัลการออกแบบมีทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
กลุ่ม K Move ชนะรางวัลผลงานยอดเยี่ยมด้านการออกแบบและงานโครงสร้าง
K Move มีแนวคิดการออกแบบธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ ให้เป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงเข้ากับสังคมรอบข้างได้ ผ่านการออกแบบพื้นที่สีเขียวในอาคาร เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อเพิ่มความใกล้ชิดกับธรรมชาติของคนในสยามสแควร์ ลดการใช้ทรัพยากรด้วยการออกแบบตัวอาคารให้ใช้กระจกที่สามารถสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวอาคาร มี Solar Panel ติดตั้งอยู่เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ K Work Shop เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเงิน และการลงทุนให้กับคนที่มีความสนใจ
กลุ่ม KLOUD ชนะรางวัลผลงานดีเด่นด้านการออกแบบสร้างสรรค์
KLOUD มีแนวคิดการออกแบบธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ KLOUD Financial Innovative Center ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่อยู่ด้านบนของอาคารสำหรับกลุ่มธุรกิจ หรือ Start Up กับพื้นที่อีกส่วนคือ KLOUD Space ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมกับพื้นที่ธุรกิจที่เป็นพันธมิตรของธนาคาร มีการใช้เทคโนโลยี Interactive และ VR ประยุกต์กับพื้นที่สีเขียว ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ในการลงทุน และการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ
กลุ่ม Kommunity ชนะรางวัลผลงานดีเด่นด้านโครงสร้างสร้างสรรค์
Kommunity เป็นกลุ่มที่เน้นการออกแบบโดยใช้พื้นที่สวนเป็นแกนกลางของอาคาร ซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่ภายนอกอาคารเห็นการทำกิจกรรมของคนที่อยู่ภายใน ทำให้เกิดความอยากที่จะร่วมกิจกรรม มีแหล่งเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับหนังสือ เนื่องจากกลุ่ม Kommunity มองเห็นความสำคัญของเวลา ในฐานะการใช้เวลาเพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเงิน และการลงทุน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสร้างความยั่งยืนได้เช่นเดียวกัน
จากแนวคิดการออกแบบธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์ทั้ง 3 กลุ่ม ที่ได้รับรางวัล ธนาคารจะนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบจริง ซึ่งคาดว่าจะได้จะได้เห็นธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์รูปแบบใหม่นี้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2564
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา