การระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้หลายอุตสาหกรรมมีปัญหา แต่ไม่ใช่กับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะ Nissin ออกมาบอกว่า วิกฤตดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง และเตรียมจำหน่ายรสชาติใหม่ๆ มากขึ้น
โอกาสมา เพราะผู้บริโภคอยู่บ้าน
Kiyotaka Ando ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nissin เล่าให้ฟังว่า ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมของพวกเขาเปลี่ยนไป เช่นต้องอยู่บ้านมากขึ้น, หันมาปรุงอาหารเองที่บ้าน และลดการออกไปจากบ้านให้น้อยที่สุด
“ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ Nissin เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และยังมีแนวโน้มการเติบโตแบบนี้จนไปถึงสิ้นปี แต่ภายใต้การเติบโตนี้เองก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่ดุเดือด ดังนั้นบริษัทต้องปรับตัวทั้งช่องทางการจำหน่าย, รูปแบบการรับประทานของผู้ซื้อ และอื่นๆ เพื่อคงการเติบโตแบบนี้เอาไว้ให้ได้”
ทั้งนี้ Nissin ได้เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสใหม่ถึง 12 รสชาติในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีราว 8 รสชาติ สำหรับรสชาติที่น่าสนใจคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีสารอาหารมาก และลดแคลอรี่เพื่อตอบโจทย์การรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้ยังเตรียมจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมผัดสดที่ตัดแต่งแล้วในฮ่องกงด้วย
ขณะเดียวกันหากเจาะไปที่ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศจีนในปีล่าสุดอยู่มีมูลค่าราว 14,000 ล้านเยน (ราว 4,000 ล้านบาท) และเติบโตอย่างช้าๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีสารอาหารน้อยอาจไม่ได้รับความนิยม
ในทางกลับกับภายใต้วิกฤตนี้ บริษัทอาหารต่างๆ เริ่มปรับตัวโดยส่งชุดประกอบอาหาร หรือ Meal Kits ให้ผู้บริโภคได้ประกอบอาหารที่บ้านได้ง่ายๆ เช่น Yum China Holdings กลุ่มร้านอาหาร Fast Food ได้ทำสเต็กเนื้อสดพร้อมวิธีทำมาจำหน่าย ส่วนร้านชาบูอย่าง Haidilao ก็ส่งเมนูต่างๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านง่ายๆ ใน 5 นาที
สรุป
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเมนูอาหารที่ง่าย และสะดวก ทำให้ผู้บริโภคที่ติดอยู่แต่ในบ้านในช่วง COVID-19 เลือกรับประทานเป็นอันดับต้นๆ และไม่ใช่แค่ Nissin ที่ได้ประโยชน์นี้ เพราะ “มาม่า” ของประเทศไทยก็มียอดขายเติบโตเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า เวลายากลำบาก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตช่วงนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง // Japan Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา