รายได้ธนาคารจากค่าธรรมเนียมการโอนเงินเริ่มลด จากบริการ PromptPay

สัญญาณว่า PromptPay กำลังจะเริ่มต้นใช้งานได้จริงๆ ในช่วงนี้ (หลังจากเลื่อนมาจาก ต.ค. ปีที่แล้ว) และเป็นที่คาดกันว่า รายได้ของธนาคารจากค่าธรรมเนียมการโอนเงินน่าจะลดลง

ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยบอกว่า รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนที่ลดลงไม่ได้เป็นสาระสำคัญ แต่การใช้ national e-Payment ถือเป็นนโยบายสำคัญที่สอดคล้องกับ digital economy ซึ่งประเทศในเอเชียก็เริ่มต้นใช้งานกันไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ หรือ อินเดีย

“ค่าธรรมเนียมจากการโอนและจ่าย มีสัดส่วนประมาณ 2.5% ของรายได้รวมธนาคาร และครึ่งหนึ่งจะได้รับผลกระทบจาก PromptPay ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องปรับตัว”

อาทิตย์ นันวิทยา CEO ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ก็ยอมรับในการแถลงทิศทางของธนาคารปีนี้ว่า ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินลดลงเล็กน้อยเพราะบริการ PromptPay กำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ แต่ SCB ก็อยากให้ประชาชนมาใช้ PromptPay ผ่าน SCB มากๆ เพราะนั่นคือโอกาสที่จะเกิดการใช้บริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์เช่นกันว่า ธนาคารพาณิชย์จะประหยัดเงินได้ 77,000 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ จากการลดการใช้เงินสดลง ลดค่าใช้จ่ายจากการขนส่งและความปลอดภัย แม้ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนจะลดลงด้วยก็ตาม

 

ขอบคุณภาพจาก Bloomberg

PromptPay กระทบรายได้ธนาคาร 5%

นักวิเคราะห์จากธนาคาร UOB ระบุว่า PromptPay จะสร้างแรงกดดันให้กับธนาคารพาณิชย์ เพราะค่าธรรมเนียมการโอน ส่งผลให้รายได้ของธนาคารส่วนนี้หายไปประมาณ 5% แม้ว่าในระยะยาวจะเป็นผลดีก็ตาม แต่ PromptPay ยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากดูมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ก็พบว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่ามีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาทในช่วงเดือน เม.ย. – ก.ย. ปีที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะพัฒนาบริการดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Bloomberg

สรุป

ถือเป็นโจทย์สำคัญของธนาคารยุคดิจิทัล ที่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง รายได้จากบริการบางส่วนจะลดลง เป็นความท้าทายที่ต้องเร่งหารายได้จากส่วนอื่นทดแทน พร้อมกับการปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่และลดรายจ่ายลง เพราะนอกจากธนาคารด้วยกัน ยังมีคู่แข่งจากกลุ่ม non-bank อยู่ด้วย

ที่มา: bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา