จากสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ วันนี้ Wisesight ขอนำเสนอมุมมองของโซเชียลที่มีต่อการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือของธนาคาร ในช่วงม.ค.-เม.ย. 63 ที่ผ่านมา จะมีมาตรการอะไรบ้างที่เข้ามากู้วิกฤตครั้งนี้ แล้วชาวโซเชียลคิดเห็นอย่างไรบ้าง เรารวมข้อมูลทุกอย่างไว้ที่นี่แล้ว
ช่องทางที่มีการพูดถึงมาตรการธนาคารช่วง COVID-19
ข้อมูลจาก ZOCIAL EYE เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 30 เม.ย. 63 ในกลุ่มธุรกิจธนาคารมีจำนวนข้อความทั้งหมด 1,820,219 ข้อความ พบว่ามีการพูดถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากธนาคารในช่วงวิกฤต COVID-19 ถึง 837,524 ข้อความ โดยคิดเป็น 46% จากข้อความทั้งหมด โดยมีสัดส่วนการพูดคุยเรื่องนี้ผ่านช่องทาง Facebook สูงสุดคือ 54% รองลงมาคือ Twitter 45% และช่องทางอื่นๆ 1%
การเติบโตของจำนวนข้อความในแต่ละเดือน
โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย. 63 พบว่าสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับวิกฤต COVID-19 คือ “มาตราการช่วยเหลือจากธนาคาร” ครับ โดยในแต่ละเดือนมีประเด็นที่คนพูดถึงเยอะที่สุดตามนี้
- เดือน ก.พ. วิกฤต COVID-19 เริ่มรุนแรงขึ้น พบว่า หลายธนาคารเริ่มออกมาตรการเพื่อมาช่วยเหลือวิกฤตในครั้งนี้ เช่น การขายและแจกประกัน COVID-19 โดยในวันที่ 28 ก.พ.มีคนพูดถึงประเด็นนี้เยอะที่สุด มีจำนวนข้อความมากถึง 83,274 ข้อความ
- ต่อมาในเดือน มี.ค. นับว่าเป็นเดือนที่มีการระบาดของ COVID-19 หนักที่สุด มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมโรคนี้อย่างคุมเข้มขึ้น ในฝั่งของธนาคารเองก็มีการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น การพักชำระหนี้ประเภทต่างๆ และมีหลายธนาคารเริ่มออกโปรโมชั่นประกัน COVID-19 เลยทำให้เรื่องขายประกัน COVID-19 ถูกพูดในวงกว้างมากขึ้น ในวันที่ 17 มี.ค. จำนวนข้อความ 67,893 ข้อความ
- เดือนเม.ย. 63 ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ธนาคารก็ยังออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าออกมาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การเปิดให้ลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินและสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ชาวเน็ตเริ่มพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยข้อความสูงสุดในวันที่ 5 เม.ย. จำนวนข้อความถึง 37,520 ข้อความ
ชาวโซเชียลพูดถึงธนาคารเรื่องอะไรบ้างในช่วงวิกฤต COVID-19
สงสัยกันไหมครับว่า ชาวโซเชียลได้พูดถึงธนาคารในประเด็นอะไรบ้างในช่วง COVID-19 ข้อมูลจาก ZOCIAL EYE ได้พบข้อมูลดังนี้
- 41% มาตรการเยียวยาต่างๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้สินเชื่อของธนาคารต่างๆ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล
- 29% ประกันชีวิตในช่วง COVID-19 เป็นการกล่าวถึงประกัน COVID-19 ที่ธนาคารต่างๆออกขาย
- 18% สาขาและพนักงานของธนาคารกล่าวถึงการปิดสาขาของธนาคาร และการให้บริการของพนักงานที่สาขา
- 9% สินเชื่อเร่งด่วน สินเชื่อที่ธนาคารเปิดลงทะเบียนในช่วง COVID-19 เช่น สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจ
- 2% ภาพลักษณ์และโครงการช่วยเหลือต่างๆ ภาพลักษณ์ของธนาคารต่อท่าทีและนโยบายของธนาคารในช่วง COVID-19 บางธนาคารมีการโพสต์ฝากร้าน เพื่อเปิดช่องทางค้าขายให้ประชาชนผ่านโลกโซเชียล
- 1% การทำธุรกรรมออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น เปิดบัญชีออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking
ในด้านของความรู้สึกที่คนบนโซเชียลมีต่อมาตรการเยียวยาของธนาคารต่างๆ นั้น 62% ปกติ เป็นการพูดคุยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มขึ้นและสอบถามความคืบหน้าของการลงทะเบียนไป อีก 34% รู้สึกในด้านลบเพราะไม่พอใจมาตรการที่อาจจะไม่ได้ทำออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้จริงๆ หรือธนาคารใช้เวลาในการอนุมัตินานไป หรือไม่สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ส่วนอีก 4% ได้ชื่นชมการทำงานในแง่ของนโยบาย และ การบริหารจัดการในการให้ข้อมูล
จากข้อมูลโซเชียลแสดงให้เห็นว่าชาวเน็ตใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักในการหาข้อมูล เพื่อนำมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากมาตรการเยียวยาของธนาคาร หากธนาคารใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียสามารถสื่อสารหรือให้ข้อมูลได้ครบถ้วนก็จะช่วยลดผลกระทบในด้านความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ได้
หลังจากนี้หากมีอินไซท์อะไรน่าสนใจอีกเราจะนำมาเล่าให้ฟังนะครับ ระหว่างนี้หากอยากรู้ทุกความเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกโซเชียลไทย ติดตามกันได้ที่นี่เลย https://trend.wisesight.com/
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา