แม้จะมาทีหลัง แต่การทำตลาดโดยเน้นที่ความเหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น และปรับตัวตลอดเวลา ทำให้ Shopee เติบโตก้าวกระโดด และสามารถขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด E-Commerce ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
รายได้-ยอดออร์เดอร์โตเกิน 100%
Sea บริษัทแม่ของ Shopee ได้ประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ออกมาแล้ว และพบว่าธุรกิจ E-Commerce ที่ทำภายใต้ Shopee นั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านยอดขายสินค้าในแพลตฟอร์มกว่า 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.97 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 74.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
ขณะเดียวกันยอดออร์เดอร์สินค้าเพิ่มขึ้น 111.2% จากปีก่อน คิดเป็น 428.9 ล้านออร์เดอร์ จากจุดนี้เองทำให้รายได้ของ Shopee เพิ่มขึ้น 110.5% คิดเป็น 314 ล้านดอลลาร์ (ราว 10,000 ล้านบาท) โดยรายได้ดังกล่าวคิดเป็น 5.1% เมื่อเทียบกับยอดขายสินค้าทั้งหมดในแพลตฟอร์ม
เหตุที่เติบโตขนาดนี้มาจากการมียอดดาวน์โหลดเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน รวมถึงอันดับ 3 ของโลกในแอปพลิเคชั่นหมวดช้อปปิ้ง นอกจากนี้ยังมียอดผู้ใช้งานต่อเดือน และการใช้เวลาบนแอปพลิเคชั่นในระบบปฏิบัติการสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวันเช่นกัน
ทุ่มเงินไม่หยุด และยังขาดทุนอยู่
สำหรับงบประมาณสนับสนุนการขาย และการตลาด Shopee ใช้ไปถึง 206 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,500 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นราว 50 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่การทุ่มเงินทำตลาดนั้นได้ปรับเปลี่ยนไปตามพื้นที่ และทำให้ Shopee สามารถเป็นเบอร์หนึ่งได้ในหลายตลาดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เช่นอินโดนีเซีย ที่ Shopee เป็นเบอร์หนึ่งในแง่ออร์เดอร์ ผ่านจำนวนยอดสั่งซื้อมากกว่า 185 ล้านออร์เดอร์ในไตรมาแรกของปีนี้ คิดเป็น 2 ล้านออร์เดอร์/วัน เพิ่มขึ้น 122% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน Shopee ก็มียอดผู้ใช้ต่อเดือน, ดาวน์โหลด และใช้เวลาบนแอปฯ มากที่สุดด้วย
อย่างไรก็ตาม Shopee ยังเป็นธุรกิจที่ไม่กำไร เพราะในไตรมาสแรกของปี 2563 ขาดทุนจากการดำเนินงานที่ 291 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,288 ล้านบาท) อาจเพราะการแข่งขันในตลาดนี้มีค่อนข้างสูง และการทุ่มตลาดทำโปรโมชั่นต่างๆ ยังจำเป็น เพื่อรักษาการเติบโตของยอดขาย และยอดออร์เดอร์เอาไว้
ภาพรวม Sea ยังขาดทุนเช่นเดียวกัน
ในทางกลับกัน ภาพรวมธุรกิจ Sea ในไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้ 913 ล้านดอลลาร์ (ราว 29,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 57.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขาดทุนสุทธิ 280 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,900 ล้านบาท) น้อยกว่าในไตรมาสแรกของปีก่อนที่ขาดทุนถึง 689 ดอลลาร์ (ราว 22,000 ล้านบาท)
รายได้ของ Sea มาจากธุรกิจความบันเทิงภายใต้ชื่อ Garena ที่ 512 ล้านดอลลาร์ รองมาคือ E-Commerce ในชื่อ Shopee ที่ 314 ล้านดอลลาร์ และสุดท้ายคือธุรกิจเกี่ยวกับการเงินในชื่อ Sea Money ที่ประเทศไทยทำตลาดในชื่อ Airpay แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่ค่อนข้างน้อย
“การระบาดของโรค COVID-19 ช่วยให้ผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ เปิดใจใช้งานบริการดิจิทัลหลากหลายรูปแบบ และนั่นคือจุดที่ Sea ได้ประโยชน์ แต่ Sea ก็พร้อมช่วยเหลือองค์กรขนาดเล็ก และ SME ต่างๆ ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ เพื่อให้เรา และพวกเขาเติบโตไปด้วยกัน” Forest Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea กล่าว
สรุป
ถึงธุรกิจ Garena จะเติบโตได้ดี แถมมีกำไรมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การแข่งขันของอุตสาหกรรม E-Commerce ที่ดุเดือด และ Shopee ต้องทำโปรโมชั่นสู้ ทำให้ Sea ยังไม่สามารถทำกำไรได้อีกระยะหนึ่ง และยังไม่มีใครรู้ว่า การเผาเงินในโลก E-Commerce จะไปสิ้นสุดเมื่อไร
อ้างอิง // Sea
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา