หวังว่าการเขียนเรื่องกองทุน SSF Extra หรือ SSF พิเศษ หรือที่เรียกกันติดปากว่า SSFX ในช่วงนี้คงจะไม่เชยเกินไปสำหรับผู้อ่านทุกท่านนะครับ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
SSFX คืออะไร?
SSFX เป็นกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขของการลงทุนดังนี้
- ซื้อแล้วต้องถือระยะเวลาลงทุนขั้นต่ำ 10 ปี นับวันชนวันจากวันที่เข้าลงทุน
- กองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65%
- ต้องซื้อกองทุนระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น
กองทุน SSFX สามารถแบ่งออกได้เป็นกี่กลุ่ม
ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 5 พ.ค. 2563) เรามีกองทุน SSFX ให้เลือกทั้งหมดถึง 18 กองทุน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่ม ตามนโยบายการลงทุนที่ใกล้เคียงกันได้ 7 กลุ่มดังนี้
กลุ่ม 1 : กลุ่มการลงทุนอ้างอิงกับ ESG
นโยบายการลงทุนกลุ่มนี้จะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลหรือเรียกว่า ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment เป็นรายชื่อของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เราสามารถตรวจสอบรายชื่อหุ้นที่อยู่ในดัชนี THSI ได้ที่เวปไซด์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเข้า Link ด้านล่างhttps://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?market=SET§or=SETTHSI&language=th&country=TH
กลุ่ม 2 : กลุ่ม Passive Fund เน้นลงทุนตามดัชนี
เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ใกล้เคียงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีมาก ประกอบไปด้วย 3 กองทุนเลียนแบบดัชนีต่างกัน โดยกองทุน PRINCIPAL SET50SSF-SSFX ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50, กองทุน KFS100SSFX ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET100 และกองทุน SCBSET-SSFX ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET ประเด็นหลักที่เราควรพิจารณาสำหรับการลงทุนเลียนแบบดัชนี คือ กองทุนสามารถเลียนแบบดัชนีได้แม่นยำหรือไม่ กองทุนใหญ่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะเลียนแบบดัชนีที่ต้องการหรือไม่ สภาพคล่องของหุ้นในดัชนีที่กองทุนเลียนแบบมีเพียงพอหรือไม่ สำหรับประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาสามารถตรวจสอบได้ใน Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมแต่ละกองทุน แต่เท่าที่ติดตามดูผลการดำเนินงานของทั้ง 3 กองทุน สามารถเลียนแบบดัชนีได้ดีพอควรครับ
กลุ่ม 3 : กลุ่ม 70/30 ลงทุนหุ้นไทยไม่เกิน 70%
เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นไทยไม่เกิน 70% ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในกองทุน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลการดำเนินงานของกองทุน SSFX ในอนาคตจะออกมาในลักษณะไหน ต้องลองค้นหากองทุนที่มีนโยบายใกล้เคียงกัน ในบลจ. เดียวกันเพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ตัวอย่าง สำหรับ KT70/30S-SSFX เมื่อลองค้นดูนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยไม่เกิน 70% คล้าย ๆ กัน พบว่ามีกองทุน KTLTF70/30 จากนั้นทำการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมาได้ภาพลักษณะนี้
ที่มา : Nomuradirect Comparison Chart
พบว่าผลการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นหากเราต้องการพิจารณาในเรื่องผลการดำเนินงานในอนาคตของ KT70/30S-SSFX ก็คงต้องใช้วิธีเทียบจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุน KTLTF70/30 กันดูครับ
กลุ่ม 4 – 6 : ลงทุนหุ้นไทยไม่ต่ำกว่าที่กำหนด
ถือเป็นกลุ่มที่มีกองทุน SSFX อยู่รวมกันมากที่สุดถึง 10 กองทุนด้วยกัน เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเชิงรุกในหุ้นไทยในสัดส่วนสูง ในส่วนของการเทียบเคียงผลการดำเนินงานสามารถค้นหาข้อมูลและดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับที่กล่าวไปแล้ว
กลุ่ม 7 : ลงทุนหุ้นไทยขนาดเล็ก
นโยบายการลงทุนหุ้นไทยขนาดกลางและขนาดเล็ก (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่เกิน 80,000 ล้านบาท) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเน้นลงทุนในกิจการขนาดเล็กที่มีโอกาสเติบโตสูง
คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวก่อนเลือกกองทุน SSFX
- สำรวจสภาพคล่องทางการเงินของตนเองให้พร้อม เงื่อนไขการลงทุนในกองทุน SSFX ต้องถือครอง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ถือครอง ดังนั้น ต้องมั่นใจว่า ในระหว่าง 10 ปี ที่ลงทุนอยู่จะไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องจนต้องขายคืนก่อนกำหนด
- ต้องการลงทุนในหุ้นไทยในช่วงที่โควิด 19 ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร เนื่องจาก SSFX ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม 200,000 บาทนั้น ต้องลงทุนในช่วง 1 เม.ย. 63 – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น
- พิจารณาการลงทุนที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้ง RMF และ SSF ปกติ ซึ่งสามารถลงทุนในสินทรัพย์อื่นนอกจากหุ้นไทยก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนหลายท่านกระจุกตัวในหุ้นไทยเนื่องจากใช้สิทธิ LTF
- ฐานภาษีสูงคุ้มค่ากับการลงทุนเพิ่มเติมอีก 200,000 บาท
คำแนะนำสำหรับขั้นตอนในการเลือกกองทุน SSFX
- ทราบวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตนเองว่า ต้องการเงินปันผลระหว่างทางหรือไม่ ต้องการนโยบายแบบไหนใน 7 กลุ่ม เช่น หากท่านต้องการสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม และอยากลงทุนด้วยต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ไม่มาก กลุ่ม 2 น่าจะเหมาะกับท่าน แต่หากท่านต้องการลงทุนในหุ้นไทยที่เน้นเรื่อง ESG กลุ่ม 1 น่าจะเหมาะกับความต้องการของท่านมากกว่า เป็นต้น
- หลังจากเลือกตามนโยบายแล้ว ให้ทำการเปรียบเทียบแต่ละกองทุน โดยการศึกษา Fund Fact Sheet เพื่อให้ทราบถึงค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขอื่น ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ
หวังว่าคงจะได้ประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อกองทุน SSFX ในช่วงนี้ได้อย่างเหมาะสมกันนะครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา