เมื่อก่อน Made in Thailand คือสินค้าคุณภาพ พอตอนนี้กลับไม่มีโลคอลแบรนด์ไหนกล้าชูจุดนี้ แต่ยังมีโทรทัศน์แบรนด์ไทยอย่าง Altron ที่กล้าพูดว่าทำในประเทศไทยอย่างเต็มปาก และพร้อมชนกับอินเทอร์แบรนด์ทุกราย
ผลิตเอง – ทำตลาดเอง – ไทยใช้เอง
ตอนนี้ Altron ถือเป็นแบรนด์โทรทัศน์หน้าใหม่ในประเทศไทย เพราะเพิ่งเกิดมาเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น แต่ถ้าดูชื่อผู้ผลิตดีๆ จะพบว่า บริษัทนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด เพราะ บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด คือโรงงานรับผลิตโทรทัศน์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 เคยรับงานให้กับ ธานินทร์ แบรนด์เก่าแก่ของไทย และเฮาส์แบรนด์ของห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วย ทำให้ผู้ผลิตรายนี้รู้เรื่องตลาดโทรทัศน์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี แต่เมื่อปี 2557 โรงงานของบริษัทเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ และตัวแปรนี้เองทำให้บริษัทตัดสินใจขึ้นลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพื่อต่อยอดธุรกิจอีกทาง
นรินทร์เดช ทวีแสงพาณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด ผู้ผลิตโทรทัศน์ Altron เล่าให้ฟังว่า จากวิกฤติดังกล่าว ทำให้บริษัทไม่สามารถอยู่เฉยๆ และรับงานผลิตอย่างเดียวได้ ต้องมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมา จึงตัดสินใจขึ้นไลน์ผลิตโทรทัศน์แบรนด์ตัวเอง โดยใช้ประสบการณ์ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยมาช่วยออกแบบให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของชาวไทยให้มากที่สุด ที่สำคัญยังเลือกใช้กลยุทธ์ Made in Thailand ผ่านการแสดงข้อความชัดเจนว่าเป็นแบรนด์ไทย เพื่อทำตลาดอีกด้วย
“Made in Thailand ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเป็นภาษาไทย บริษัทจึงเลือกใช้คำว่า Ultra มาตั้งชื่อแบรนด์ แต่พอไปจดทะเบียนจริงๆ มันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นคำมีความหมาย จึงเปลี่ยนเป็น Altron แทน ที่สำคัญเราเลือกที่จะทำออกมาเพื่อให้คนไทยได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพทัดเทียมกับแบรนด์ต่างชาติ ในราคาที่เอื้อมถึง ผ่านการที่เรามีโรงงานของตัวเอง จึงทำราคาได้ต่ำกว่า 15-20% เมื่อเทียบสเปกเดียวกันกับอินเทอร์แบรนด์ นอกจากนี้การเลือกใช้ชื่ออังกฤษยังทำให้บริษัทขยายตลาดออกไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะใน CLMV ที่ยังมองว่าสินค้าไทยคือสินค้าดี”
ขอเวลา 3 ปี ก่อนปูพรมตลาด CLMV
หลังจากแบรนด์ Altron ทำตลาดมาปีเศษ ก็สามารถปูพรมจุดจำหน่ายได้กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ อยู่ในโมเดิร์นเทรดเกือบครบทุกแห่ง รวมถึงร้านค้ารายย่อยในต่างจังหวัดอีกด้วย เพราะบริษัทต้องการเจาะตลาดผู้ใช้ระดับ C+ ลงไปถึง D ที่อาจมีกำลังทรัพย์น้อย แต่ต้องการโทรทัศน์คุณภาพสักเครื่อง ผ่านสินค้านับ 10 รุ่น ราคา 4,000 – 16,000 บาท ขนาด 24 – 50 นิ้ว รวมถึงมีรุ่นจอโค้ง และ SmartTV ด้วย โดยปีนี้จะมีอีก 5 รุ่นเพิ่มเข้ามา จนทำให้ปีนี้น่าจะมียอดขาย 80,000 เครื่อง รวมรายได้กว่า 400 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2559 ที่ทำได้ 320 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ภายใน 3 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างยอดขาย แต่ที่ไม่ไปตอนนี้ เพราะต้องการสร้างความแข็งแกร่งในไทยก่อน โดยเฉพาะเรื่องส่วนแบ่งในตลาดโทรทัศน์ที่ต้องมีอย่างน้อย 5% จากปี 2559 มีส่วนแบ่งราว 1% จากมูลค่าตลาดโทรทัศน์ 31,000 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ในการเพิ่มส่วนแบ่งคือการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เช่นร่วมทรูวิชั่นส์เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อโทรทัศน์ พร้อมกล่องทรูแบบขายขาดในราคาพิเศษ รวมถึงการติดตั้ง Doonee บริการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ใน SmartTV ให้ผู้ซื้อชมฟรี 90 วันด้วย
เศรษฐกิจหด ทำตลาดทีวีซบ
สำหรับภาพรวมตลาดโทรทัศน์ในปีนี้ยังมองว่าค่อนข้างนิ่ง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ดังนั้นอินเทอร์แบรนด์กว่า 20 ราย รวมถึงโลคอลแบรนด์อีกเล็กน้อย น่าจะต้องหานวัตกรรมใหม่ หรือแคมเปญที่มากกว่าการลดราคามาช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้จับจ่าย เพราะการแข่งขันด้วยราคาเพียงอย่างเดียวโอกาสที่ทุกแบรนด์ท้องถิ่ง และแบรนด์ญี่ปุ่น – เกาหลี จะแพ้แบรนด์จีนที่ชูเรื่องราคามาแข่งก็เป็นไปได้สูง ส่วนภาพของธุรกิจรับผลิตโทรทัศน์ของบริษัทก็เริ่มให้ความสำคัญลดลง โดยปีนี้คาดว่าถ้ารวม 2 ธุรกิจเข้าด้วยกันจะมีรายได้ 500 ล้านบาท
สรุป
แบรนด์ไทยยังไม่ตาย คำนี้คงใช้ได้กับ Altron ที่กล้าคิด และกล้าแตกต่าง เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับผู้ผลิตไทยยังอยู่ได้ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นว่าเริ่มมีแบรนด์ไทยบางแบรนด์หันมาบอกว่าตัวเองเป็นคนไทย จากแต่ก่อนที่บอกว่าตัวเองเป็นญี่ปุ่นบ้างแล้ว ดังนั้นคงต้องรอชมกันต่อไป ว่าตลาดโทรทัศน์จะมีช่องว่างให้ผู้ผลิตชาวไทยเข้าไปได้ขนาดไหน แล้วการทุ่มราคาของแบรนด์จีนจะหายไปได้เมื่อไหร่ รวมถึงแบรนด์ญี่ปุ่น กับเกาหลีจะเข้ามาอีกหรือไม่ ต้องติดตามกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา