เกาหลีใต้ถอดบทเรียนคุมโควิด-19 แบบไม่ Lockdown ถ้าประชาชนศรัทธาต่อรัฐ ความร่วมมือจะเกิด

ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้รับมือโควิด-19 ถือว่าอยู่ในสภาพหนักหนาสาหัสมาก เพราะหลังจากคนป่วยรายที่ 31 ซึ่งเป็นผู้หญิงสูงวัย อายุ 61 ปีติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อและเดินทางไปตามพื้นที่สาธารณะที่มีคนชุมนุมหนาแน่น รวมถึงทำพิธีกรรมตามความเชื่อที่โบสถ์ Shincheonji ทำให้เธอแพร่เชื้อไปยังคนอื่นอีกมหาศาล TIME รายงานว่ามีคนจำนวนกว่าครึ่งหมื่นที่ติดเชื้อจากเธอ

รับมือโควิด-19 ด้วยความระวัง-ออกแบบนโยบายและนวัตกรรมสู้โรคระบาดด้วย

เกาหลีใต้ไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้ว่า 15 เมษายนที่ผ่านมา ประชาชนจะต้องออกไปเลือกตั้งก็ตาม โดย Park Neung-hoo รัฐมนตรีสาธารณสุขและสวัสดิการอธิบายให้ TIME ฟังว่า ประสบการณ์จากโรค MERS (โรค Middle East Respiratory Syndrome: โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) ที่เกาหลีใต้เป็นประเทศติดเชื้อมาก อันดับ 2 รองจากซาอุดิอาระเบีย ทำให้เรียนรู้ว่า เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นใหม่ต้องพยายามหาทางรับมือ

เมื่อโควิด-19 ระบาดขึ้น เกาหลีใต้จึงพยายามรวบรวมข้อมูลข่าวสารให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนำมาตัดสินใจรับมือต่อไป

นอกจากนี้ Park ยังกล่าวว่า โรคโควิด-19 นี้มีลักษณะเฉพาะตัว เกาหลีใต้จำเป็นต้องใช้นโยบายทั้งที่มีความสร้างสรรค์ ทั้งที่เป็นนวัตกรรมและผสมผสานเข้ากับนโยบายจัดการโรคระบาดที่มีอยู่เดิม เพื่อต่อสู้กับไวรัส เช่น การตรวจโรคแบบ drive-thru screening clinic ที่ให้คนขับรถเข้าไปตรวจโรคได้โดยไม่ต้องลงจากรถ

หรือการให้โหลดแอปพลิเคชันเพื่อวินิจฉัยโรคตัวเองตลอดระยะ 14 วันหลังเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ไปจนถึงการตั้ง Life Treatment Centers สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เพราะการคัดแยกผู้ป่วยใหม่ที่มีอาการเล็กน้อยกับผู้ป่วยหนักออกจากกัน จะช่วยไม่ให้โรงพยาบาลรับภาระหนักเกินไป

นอกจากนี้ Park ยังมองว่าถ้าเกาหลีใต้พัฒนาชุดตรวจโรคช้ากว่านี้ไปสักหนึ่งเดือน โดยที่ไม่ได้หารือกับภาคเอกชนไว้ก่อน ก็คงไม่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีเท่านี้ นอกจากนี้ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ถือว่ามีการแพร่เชื้อที่ค่อนข้างเร็ว คนที่ติดเชื้อจึงต้องถูกแยกตัวให้อยู่ลำพังให้เร็วที่สุดด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ และการตรวจโรคแบบรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ช่วยในการสืบสวนโรค ไม่ว่าจะเป็นการระบุตัวตนของผู้คนที่แม่นยำ การสืบสวนโรคผ่านการใช้บัตรเครดิตการ์ด การตรวจดูกล้อง CCTV การสืบดูการระบุตำแหน่งที่อยู่ผ่านโทรศัพท์ เหล่านี้ ทำให้เกาหลีใต้รู้ระยะเวลา หรือเส้นทางของผู้ป่วยที่แม่นยำ และรวดเร็ว มันทำให้สืบหาคนที่ติดต่อกับผู้ป่วยย้อนหลังได้

ส่วนเรื่องการใช้ระบบ drive-through testing นั้น Park กล่าวว่า ที่นำมาใช้ เพราะมันรวดเร็วและมันก็ปลอดภัยมากกว่าคลินิกตรวจโรคทั่วไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็คอุณหภูมิร่างกาย การตรวจสารคัดหลั่งจากผู้ที่ใช้บริการโดยขับรถเข้าไปตรวจแบบไม่ต้องลงจากรถนั้น ใช้เวลาเพียง 10 นาที และยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และคนที่ติดเชื้อด้วย

คำแนะนำจากเกาหลีใต้สำหรับประเทศอื่น ถ้าประชาชนศรัทธาต่อประเทศชาติ ความร่วมมือจะไหลมาเทมา

การคุมโรคระบาดที่กำลังแพร่เชื้อไปทั่วทุกหนแห่งอย่างรวดเร็วว่ายากแล้ว สิ่งที่เกาหลีใต้มองว่าเป็นความสำคัญสำหรับการรับมือโควิด-19 เลย คือการที่ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธาต่อประเทศชาติ ยิ่งประชาชนศรัทธามากเท่าไร ไม่ใช่แค่ลดความกังวลที่เกิดขึ้นในหมู่สาธารณชนเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือของประชาชนในการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย

นอกจากนี้ การให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น และยังทำให้การทำงานและการสื่อสารระหว่างหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับกระทรวงดำเนินไปด้วยความราบรื่น (เราจะเห็นตัวอย่างความสับสนจากการกระจายข้อมูลข่าวสารจากบางประเทศที่มีการทำงานของหน่วยงานหลายระดับชั้น และคำสั่งการไม่เป็นเอกเทศ ขาดความเชื่อมโยงกัน ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งนี้จะทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน ขาดความมั่นใจ ลังเล และนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐในที่สุด)

คำถามที่ท้าทายต่อมาของ TIME คือ เกาหลีใต้คิดเห็นอย่างไรต่อมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดอย่างที่เกิดขึ้นในจีน เกาหลีใต้ให้คำตอบกับประเด็นนี้ว่า ไม่เคยพิจารณาประเด็นการรับมือกับโควิด-19 ด้วยการประกาศ Lockdown ประเทศอย่างเต็มรูปแบบเช่นนั้น แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสในบางภูมิภาคที่ชัดเจน เกาหลีใต้ก็มองว่าสามารถจัดการกักบริเวณได้สำเร็จแน่นอน

เกาหลีใต้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองตามครรลองประชาธิปไตยคือการเคารพในสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นเกาหลีใต้จึงต้องพึ่งพาความร่วมมือแบบสมัครใจจากประชาชน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐในการจัดการกับโรคระบาดด้วย

SEOUL, SOUTH KOREA – APRIL 12: People pose for photos on an installation spelling ‘Seoul’, during a Easter holiday at Yeouido park as South Koreans take measures to protect themselves against the spread of coronavirus (COVID-19) on April 12, 2020 in Seoul, South Korea. South Korea has called for expanded public participation in social distancing, as the country witnesses a wave of community spread and imported infections leading to a resurgence in new cases of COVID-19. (Photo by Chung Sung-Jun/Getty Images)

หาตรงกลางให้เจอ บาลานซ์ให้ได้ ระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ v.s. ควบคุมโรคระบาด

ประเด็นเรื่องสาธารณสุขหรือการคุมโรคระบาดให้อยู่นี้ ไม่ได้หมายความว่าประเทศต้องละทิ้งบริบททางเศรษฐกิจ Park กล่าวว่า ต้องหาจุดตรงกลางให้เจอ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าเราอาจกำจัดโควิด-19 ระบาดไปได้โดยที่ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ เกาหลีใต้สามารถคุมโควิด-19 ได้เพราะศักยภาพทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเคลื่อนไหวต่อไปได้ด้วย (เพราะไม่ได้สั่ง Lockdown ประเทศ แต่เน้น Social Distancing อย่างเคร่งครัด)

ที่มา – TIME

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์