ส่องทางรอดพนักงาน-ลูกจ้าง โอกาสไม่ตกงานอยู่ที่ เถ้าแก่และเจ้าหนี้

วิกฤตโควิด-19 น่าจะพูดได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจเรียกได้ว่า แทบจะล่มสลาย เมื่อค้าขายสินค้าและบริการไม่ได้ ผลที่ตามมาคือ การเลิกจ้างงาน มีการคาดการณ์ว่าจะมีตัวเลขคนว่างงานหลักหลายล้านจากวิกฤตครั้งนี้

ประเด็นสำคัญ คือ คนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น คือ พนักงาน ลูกจ้างและแรงงานระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ภาพจาก Shutterstock

เมื่อขายสินค้า-บริการไม่ได้ จะทำอย่างไร

ทางออกของธุรกิจที่ไม่มีรายได้ คือต้องลดรายจ่ายงบการตลาด งบลงทุน แต่ในทึ่สุดก็ต้องตัดค่าจ้างพนักงาน โดยมีทั้ง ลดสวัสดิการ ลดเงินค่าจ้าง หยุดจ้างชั่วคราว ไปจนถึงเลิกจ้าง

หนึ่งในธุรกิจที่เห็นผลกระทบชัดเจนเป็นกลุ่มแรกๆ คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้ง บริษัทนำเที่ยว รถเช่า โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป เรียกว่ากลายเป็นศูนย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สภาพคล่องกระแสเงินสด ที่ยังเหลืออยู่เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป

พนักงาน ลูกจ้างที่มีอยู่หลายพันคน ต้องยอมลดงาน ลดเงินค่าจ้าง เรียกว่า พนักงานต้องช่วยบริษัท แต่บริษัทก็ต้องช่วยพนักงาน นั่นคือ เถ้าแก่ หรือนายจ้าง ก็ต้องกัดฟัน จ้างพนักงานต่อไปด้วยเงินค่าจ้างที่น้อยลง

ภาพจาก Shutterstock

10,000-15,000 บาท ต่อชีวิตพนักงานทั้งครอบครัว

การเลิกจ้างนั่นอาจเป็นการตัดตอนชีวิตพนักงานและครอบครัวในทันที แต่มีข้อเท็จจริงว่า รายได้ประมาณ​ 10,000 – 15,000 บาทสำหรับคนบางคน ถือว่าเป็นเงินที่สามารถช่วยในการใช้ชีวิตให้รอดผ่านช่วงวิกฤตนี้ได้

ดังนั้น เถ้าแก่ ต้องเสียสละ โดยรักษาการจ้างงานต่อไป โดยเฉพาะพนักงานรายได้น้อย เพราะนี่คือฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจในสังคม หากแรงงานของประเทศไม่มีรายได้ ในที่สุดผลกระทบจะไปถึงคนระดับกลาง และคนระดับบนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ธุรกิจจะไปต่อได้ ต้องมีสภาพคล่องและกระแสเงินสด ที่เพียงพอด้วย ดังนั้นจะรักษาการจ้างงานไว้ได้ อีกตัวแปรที่สำคัญคือ “เจ้าหนี้” นั่นก็คือ ธนาคาร ที่ต้องกระโดดลงมาช่วยด้วยอีกแรง

ตามปกติธุรกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร วิธีที่ง่ายที่สุดที่ธนาคารจะช่วยเหลือได้ในทันทีก็คือ ธนาคารลดดอกเบี้ย แล้วให้ธุรกิจเอาเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ไปจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานแทน พนักงานก็จะได้รับเงินเดือนเท่าเดิม และไม่ถูกเลิกจ้าง

ภาพจาก Shutterstock

แนวทางนี้คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันและกัน องค์กรต้องเลิกคิดถึงกำไร ยอมขาดทุน เพื่อดูแลพนักงานให้อยู่รอดไปด้วยกัน กว่าจะกลับสู่สถานการณ์ปกติอาจใช้เวลามากกว่า 1-2 ปี 

แต่ในระยะสั้นอย่างน้อยที่สุด ช่วงที่เริ่มฟื้นฟูกิจการ องค์กรธุรกิจก็ยังมีพนักงานที่พร้อมจะทำงานและพลิกฟื้นธุรกิจไปด้วยกันในทันที

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ของ KBank บอกว่า การจะช่วยเหลือให้เกิดการจ้างงานต่อไป ส่วนสำคัญคือ ต้องมั่นใจว่า เงินไปถึงมือพนักงานและลูกจ้าง ต้องสามารถตรวจสอบได้ เพราะถ้าเงินที่เกิดจากการลดดอกเบี้ย เข้ากระเป๋าเถ้าแก่เสียเอง ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ดังนั้น KBank จึงเริ่มทดลองโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” โดยเลือกภูเก็ต ซึ่งมีเถ้าแก่ที่เป็นลูกค้าของ KBank ประมาณ 127 ราย ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายตามเกณฑ์การับความช่วยเหลือ

เป้าหมายคือ 6 เดือนจากนี้ พนักงานกว่า 3,000 คน จะได้รับการจ้างงานต่อไป และอนาคตอันใกล้ KBank จะขยายผลไปทั่วประเทศ​เพื่อให้พนักงานกว่า 15,000 คนไม่ต้องตกงาน และไม่ถูกลดเงินเดือน

สำหรับในภูเก็ตเอง ถ้าธุรกิจทั้ง 127 แห่ง สามารถจ้างงานพนักงานกว่า 3,000 คนต่อไปได้ นั่นหมายถึง คนในพื้นที่ คนในท้องถิ่น จะยังมีงานทำ

นอกจากความช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าว ทุกธุรกิจก็ต้องไม่ลืมที่จะปรับตัว วางแผนทางธุรกิจ หาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และต้องไม่ลืมว่า สภาพคล่องกระแสเงินสด สำคัญมาก

สรุป: เตรียมปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต

บัณฑูร กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า เงินจำนวนนี้ต้องลงไปถึงคนระดับล่างของเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ต้องประคองให้คนอยู่รอดได้ให้มากที่สุด คนที่มีต้องให้คนไม่มี ต้องคิดถึงคนข้างล่างก่อน ถ้าคนข้างล่างอยู่รอด คนตรงกลางและคนข้างบนก็อยู่รอด

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความช่วยเหลือ ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือและช่วยเหลือกัน เพราะการ “ให้” จะทำให้เราทุกคนรอดจากวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา