ถ้าพูดถึงซีรีส์วัยรุ่นที่กำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าใครหลายๆ คนคงต้องนึกถึงซีรีส์เรื่องเพราะเราคู่กัน (2 Gether The Series) เพราะกระแสความนิยมโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ จนแฮชแท็กที่แฟนๆ ใช้เพื่อพูดคุยแบ่งปันความฟินกันในขณะรับชมอย่าง #คั่นกู ติดเทรนด์ความนิยมใน Twitter ทั้งในไทย และต่างประเทศอยู่เป็นประจำวันทุกวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่ซีรีส์ออกอากาศ
แม้ว่าการวัดเรทติ้งเฉพาะการรับชมทางทีวีจะไม่มากนัก แต่สวนทางกับยอดการรับชมผ่านแอปพลิเคชัน Line TV ที่ในขณะนี้มีจำนวนผู้รับชมรวมกันทุกตอนกว่า 102 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังติดอันดับการค้นหาในแอปพลิเคชัน Line TV อยู่ใน 5 อันดับแรกตลอดเวลา แม้จะไม่ใช่วันที่ซีรีส์ออกอากาศก็ตาม แสดงว่ามีแฟนๆ จำนวนมากให้ความสนใจกดค้นหา เพื่อรับชมตลอดเวลา
ซีรีส์ Y คืออะไร?
ซีรีส์ Y ก็เหมือนซีรีส์ทั่วๆ ไป ต่างออกไปก็เพียงแค่ตัวละครหลักที่รักกันเป็นคนเพศเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่อง ‘ชายรักชาย’ ค่อนข้างเป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นผู้หญิงบางส่วน
‘ซีรีส์ Y’ เทรนด์คนรุ่นใหม่ที่ต้องจับตามอง
ในความเป็นจริงแล้ว การ์ตูน นิยาย Y (Yaoi) เป็นสิ่งที่มีมานาน เพียงแค่ไม่ได้แพร่หลายเท่าในปัจจุบัน
ตลาดซีรีส์ Y เริ่มจากการหยิบเอานิยาย Y ที่โด่งดังในโลกออนไลน์ มาปรับรูปแบบให้เป็นซีรีส์ฉายในจอแก้ว ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, ทฤษฎีจีบเธอ, บังเอิญรัก, เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผม, Dark Blue kiss, Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า เป็นต้น
ซีรีส์ Y ที่ผลิตออกฉายตั้งแต่ประมาณช่วง 2017 จนถึงปัจจุบัน ก็มีซีรีส์หลายเรื่องที่ยกตัวอย่างเอาไว้ก่อนหน้านี้ทำยอดรับชมในไลน์ทีวีได้สูงกว่า 30 ล้านครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดซีรีส์ Y มีฐานคนดูอยู่ไม่น้อยเลย จึงทำให้ธุรกิจซีรีส์ Y มีโอกาสการเติบโตได้อีกในอนาคต
ซีรีส์ Y ต่อลมหายใจให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์
จากความสำเร็จของซีรีส์ Y ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจสำนักพิมพ์ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เพราะซีรีส์ Y สร้างมาจากนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์ หรือนิยายออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่างๆ
ในกรณีที่มีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจสำนักพิมพ์จะไปไม่รอด ในยุคที่การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม เพราะชีวิตประจำวันของเรามีกิจกรรมอื่นที่ดึงดูดความสนใจไปมากกว่า
แต่กลายเป็นว่าการมาของซีรีส์ Y เป็นการเพิ่มรายได้ทำให้สำนักพิมพ์ได้เงินค่าลิขสิทธิ์จากการขายบทนิยายให้กับคนทำซีรีส์ และยังทำให้หนังสือนิยายเรื่องที่ถูกหยิบไปทำซีรีส์ขายดี นำมา Reprint ผลิตขายได้เพิ่มอีกด้วย ซึ่งคนก็อาจจะอยากซื้อเก็บสะสม หรือซื้ออ่าน เพราะดูซีรีส์แล้วชอบเลยอยากรู้เนื้อเรื่องในรูปแบบนิยายด้วย
สำนักพิมพ์ใหญ่ แตกไลน์ทำนิยาย Y โดยเฉพาะ
สำนักพิมพ์หลายแห่ง ได้มีการแตกไลน์การทำธุรกิจออกมา โดยแยกสำนักพิมพ์สำหรับนิยาย Y โดยเฉพาะ ซึ่งแต่ก่อนไม่ได้มีการตีพิมพ์นิยาย Y มากขนาดนี้ อาจด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การชอบเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ยิ่งในร้านหนังสือจะเห็นเลยว่าหนังสือนิยาย Y ได้รับความนิยมมาก จนมีพื้นที่วางเบียดบังหนังสือนิยายชายหญิงไปแล้ว
การแยกสำนักพิมพ์สำหรับนิยาย Y โดยเฉพาะจึงเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวของธุรกิจสำนักพิมพ์ ทำให้ตอนนี้มีสำนักพิมพ์สำหรับนิยาย Y โดยเฉพาะมากมาย เช่น
- สำนักพิมพ์ EverY ของแจ่มใส
- สำนักพิมพ์โรสบุ๊คส์ ของอัมรินทร์
- สำนักพิมพ์ MeeDee ของ smm publishing ที่มีสำนักพิมพ์ใหญ่อย่าง Siam Inter Book อยู่แล้ว
ยังไม่รวมสำนักพิมพ์เล็กที่เปิดมาเพื่อผลิตนิยาย Y ขายโดยเฉพาะอีกหลายแห่ง
ค่ายทีวีก็ได้ประโยชน์
นอกจากสำนักพิมพ์แล้ว ค่ายทีวีก็ได้ประโยชน์จากกระแสซีรีส์ Y เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากซีรีส์ Y เรื่องไหน สร้างมาจากนิยาย Y ที่ประสบความสำเร็จ มีกลุ่มผู้อ่านจำนวนมากอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นการการันตีได้ในระดับหนึ่งว่าซีรีส์ Y เรื่องนี้มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง หากมีองค์ประกอบโดยรวมของซีรีส์ที่ดี
ในบางครั้งนิยาย Y ที่ได้รับความนิยม มีกลุ่มผู้อ่านติดตามเป็นจำนวนมาก เมื่อมีค่ายทีวีนำไปสร้างเป็นซีรีส์ Y ค่ายทีวีสามารถดูกระแสและผลตอบรับจากกลุ่มผู้อ่านได้ทันที ก่อนที่ซีรีส์จะฉายทางทีวีด้วยซ้ำ ตั้งแต่การเปิดตัวนักแสดงที่จะมารับบท รวมถึงการปล่อยคลิปตัวอย่าง (Trailer) ออกไปก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะได้รับ Feedback กลับมาอย่างรวดเร็ว
ซึ่งหากค่ายทีวีมั่นใจว่าซีรีส์เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จแน่ๆ จาก Feedback ที่ได้รับ ค่ายทีวีสามารถจัดงานเปิดขายบัตรให้กับแฟนๆ เพื่อรับชมซีรีส์ตอนแรกที่จะออกอากาศร่วมกันในโรงภาพยนตร์ ก่อนการออกอากาศทางทีวี หรือหากบางเรื่องมีกระแสที่ดีตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ ก็อาจจัดงานขายบัตรให้แฟนๆ ชมตอนจบของเรื่องพร้อมๆ กันได้ด้วย เพราะส่วนใหญ่กลุ่มคนดูซีรีส์ Y จะมีความอินไปกับตัวละคร และรู้สึกมีส่วนร่วมเหมือนเป็นคนรอบตัวในชีวิตตัวเอง
ไม่ใช่แค่การออกอากาศผ่านทางทีวี และช่องทางรับชมออนไลน์ภายในประเทศเท่านั้น เพราะ ซีรีส์ Y ยังสามารถขยายฐานการรับชมไปยังต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และประเทศจีน ที่นิยมรับชมซีรีส์ Y จากไทยอยู่หลายเรื่อง อย่างในเว็บไซต์ Weibo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีความเหมือนกับ Twitter ของประเทศจีน มีดาราจากซีรีส์ Y จำนวนมากเล่นอยู่ ซึ่ง วิน เมธวิน นักแสดงที่รับบทไทน์จากซีรีส์ Y เรื่อง เพราะเราคู่กัน มีผู้ติดตามบน Weibo หลายแสนรายแม้จะเริ่มเล่นซีรีส์ Y เรื่องนี้เป็นครั้งแรก
ส่วนคลิปวิดีโอในเว็บไซต์ YouTube ก็มีการตัดฉากที่มีความสำคัญในซีรีส์มาลง และใส่คำบรรยายภาษาอังกฤษ เพื่อผู้ชมชาวต่างชาติ ก็ได้รับความสนใจมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นภาษาอังกฤษจำนวนมากเช่นเดียวกัน
สรุป
การมาของกระแสความนิยมซีรีส์ Y แม้จะยังไม่ใช่กระแสหลักมากขนาดที่จะได้ตัวเลขเรทติ้งบนทีวี เทียบเท่าละครทีวีทั่วไปเรื่องอื่นๆ แต่นับว่ามีความนิยมมากในคนบางกลุ่ม ซึ่งมากพอที่จะสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจสำนักพิมพ์ และค่ายทีวี รวมถึงการแตกไลน์ทำธุรกิจประเภทใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดจากโลกที่เปลี่ยนไป โดยใช้กระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะไปได้ดี
แต่ด้วยกระแสความนิยมที่ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจเป็นซีรีส์ Y พัฒนาจนเป็นคอนเทนต์กระแสหลักก็เป็นได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา