คงเคยได้ยินกันมาบ้างว่าเด็กกับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน เพราะส่งผลต่อพัฒนาการหลายๆ ด้านของเด็ก ทำให้เรียนรู้การใช้ภาษาได้ช้า เกิดภาวะโรคอ้วนจากการนั่งเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานๆ รวมถึงมีปัญหานอนไม่หลับในเวลากลางคืน เพราะจิตใจมัวแต่จดจ่อกับสิ่งเร้าทางเทคโนโลยีมากเกินไป
แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป พ่อแม่หลายคนทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในขณะที่ลูกๆ ก็อยู่บ้านเช่นกัน ทำให้บางครั้งพ่อแม่ต้องยอมปล่อยลูกให้อยู่กับเทคโนโลยี ทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และแทบเล็ต เพราะตัวเองต้องใช้เวลาไปกับการทำงาน ไม่มีเวลานั่งดูแลลูกตลอดเวลา
ทำให้เกิดความกังวลขึ้นว่า การปล่อยลูกให้อยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียตามงานวิจัยเก่าๆ ที่เคยอ่านมาหรือไม่ ซึ่ง Jenny Radesky ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพฤติกรรมในเด็ก จากมหาวิทยาลัย Michigan มีความเห็นว่าการปล่อยให้เด็กใช้งานเทคโนโลยี และอยู่กับหน้าจอในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องหน้ากังวลแต่อย่างใดถ้ามีการใช้อย่างถูกวิธี
ส่วน Caroline Knorr นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก ก็เห็นด้วยเช่นกันว่าการปล่อยให้เด็กใช้เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แม้เด็กจะอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน แต่สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กับเด็กในขณะที่ใช้เทคโนโลยีด้วย ถ้าพ่อแม่คอยพูดคุย ดูแลลูก เทคโนโลยีก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเสมอไป
การจะปล่อยให้เด็กๆ ใช้งานเทคโนโลยี อยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่แน่นอนว่าพ่อแม่ ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ใช้นานแค่ไหน ไม่สำคัญเท่าใช้ทำอะไร
Redesky เชื่อว่าระยะเวลาที่เด็กใช้ไปกับเทคโนโลยี ไม่ได้แปลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาครอบงำ และทำให้ชีวิตเด็กๆ มีปัญหา ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรยึดติดกับระยะเวลามากเกินไป แต่ควรใส่ใจว่าลูกของคุณใช้เทคโนโลยีอย่างมีประโยชน์กับชีวิตหรือเปล่าแทน
ตัวอย่างเช่น หากลูกของคุณใช้โทรศัพท์เพื่อ VDO Call หาคุณปู่ คุณย่า แบบนี้ไม่ควรนำเอาเวลาการใช้โทรศัพท์ของลูกมาตัดสินว่าพวกเขาใช้มากเกินไป เพราะเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น และเข้าสังคม ต่างจากการดูการ์ตูนเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นพ่อแม่ควรกำหนดเวลาที่จะอนุญาตให้ลูกอยู่กับหน้าจอเทคโนโลยี โดยแบ่งประเภทตามกิจกรรมที่ทำ เช่น การเล่นเกม ดูการ์ตูน เพื่อความบันเทิง 1 ชั่วโมงต่อวัน การโทรศัพท์เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น 2 ชั่วโมงต่อวัน และการใช้เพื่อศึกษาความรู้ เสริมพัฒนาการ 3 ชั่วโมงต่อวัน จะดีกว่าการกำหนดว่าอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่แบ่งกิจกรรมที่ใช้งาน
การทำกิจกรรมผ่านหน้าจอเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับเด็กๆ มีมากมาย เช่น การใช้เพื่อเข้าสังคม สร้างปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ชมภาพยนตร์ เข้าเว็บไซต์ หรือใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยเสริมพัฒนาการ เพิ่มทักษะการแก้ไขปัญหา และการคิดวิเคราะห์ จะเป็นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
อย่าเจ้ากี้เจ้าการมากเกินไป
การควบคุมการใช้เทคโนโลยีของลูกที่ดีที่สุดควรเริ่มจากการดูแลอยู่ห่างๆ กำหนดเงื่อนไขการใช้งานให้เขารู้ แต่ต้องเว้นระยะห่างให้เขาควบคุมตัวเองมากกว่าถูกพ่อแม่ควบคุม
อันดับแรกคุณควรอธิบายให้เขาฟังก่อนว่าทำไมคุณต้องกำหนดระยะเวลาการใช้เทคโนโลยีของเขา โดยอาจให้เหตุผลว่า เพราะคุณอยากมีเวลาเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ในครอบครัวพร้อมกัน นอกเหนือจากการใช้งานเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว การให้เหตุผลจะดีกว่าการบอกแค่ให้ลูกเลิกเล่นโทรศัพท์ ซึ่งเขาอาจไม่ยอมทำตามก็ได้
เมื่อกำหนดระยะเวลาการใช้งานให้ลูกแล้ว คุณควรให้อิสระในการจัดสรรเวลาเล่นโทรศัพท์ด้วยตัวของเขาเอง เช่น เขาอยากเล่นเกมในตอนเช้า ดูการ์ตูนในตอนบ่าย และใช้แอปพลิเคชันเพื่อการศึกษาในตอนค่ำๆ ก็ได้ ส่วนเวลาที่เหลือให้ใช้สำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ของครอบครัว
การปล่อยให้เด็กๆ มีอิสระในการเลือกเวลาการใช้งานเทคโนโลยีของตัวเองจะช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจ การทำตามคำสั่ง การคิดแบบมีเหตุผล และการควบคุมพฤติกรรมของเขาเอง แต่ทั้งนี้ต้องมีการกำหนดกฎของครอบครัวให้ทุกคนทำตาม คือ ในเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันในครอบครัว ต้องวางโทรศัพท์ หรือแท็บเล็ตไว้ห่างตัว เพื่อป้องกันการถูกรบกวน หรือเบี่ยงเบนความสนใจไปจากสิ่งที่กำลังทำอยู่
พยายามเชื่อมเทคโนโลยีเข้าสู่ชีวิตจริง
การใช้งานเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ พ่อแม่ควรพยายามหากิจกรรมที่ลูกชอบทำเพื่อเชื่อมเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตของเด็กๆ เช่น หากเด็กๆ ชอบเล่นเกม Minecraft พ่อแม่อาจหาหนังสือที่เกี่ยวกับเกม Minecraft ให้เขาอ่าน เพื่อสร้างจินตนาการ เสริมทักษะ และเป็นการดึงความสนใจของลูกเข้าสู่การอ่าน นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะเขาได้อ่านในสิ่งที่เขาชอบและสนใจจริงๆ
หรือหากเด็กคนไหนชอบดูการ์ตูน หรือสารคดีที่เกี่ยวกับสัตว์ พ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้หาซื้อตุ๊กตาสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อสร้างจินตนาการให้กับเด็ก ซึ่งตุ๊กตาสัตว์ที่เล่นจะมีลักษณะเป็นสิ่งของจริง จับต้องได้ ต่างจากการการดูการ์ตูนในโทรศัพท์ ซึ่งสัตว์จะมีลักษณะเป็นภาพ 2 มิติ จับต้องไม่ได้
ส่วนในเด็กโต พ่อแม่อาจใช้วิธีการพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เกี่ยวกับแอปพลิเคชันที่เขาใช้ เกมที่เขาเล่นว่าเขารู้สึกอย่างไร สอนให้เขาคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับสื่อที่เขาเปิดรับ เพื่อทำให้เขารู้ว่าเขาเสพสื่อ และใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีสติ ไม่ได้ใช้เพราะเพื่อนคนอื่นๆ ใช้เท่านั้น
คอยสังเกตพฤติกรรมของลูกบ้าง
แม้ว่าที่ได้อ่านมาทั้งหมดดูเหมือนว่าเทคโนโลยีจะมีแต่ข้อดี แต่ความจริงแล้วก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน คือเทคโนโลยีส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ใช้งานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม ดังนั้นพ่อแม่ควรสังเกตพฤติกรรม และอารมณ์ของลูกๆ เสมอตลอดเวลาที่ใช้งานเทคโนโลยี และคอยดูว่าเทคโนโลยีส่งผลให้ลูกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
โดยเฉพาะพฤติกรรม และอารมณ์ในแง่ลบ หากลูกรู้สึกหงุดหงิดง่าย ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่พูดคุยกับคนในครอบครัว หรือไม่ยอมทำการบ้านที่ได้มาจากโรงเรียน คุณควรเตือนลูกตั้งแต่แรกว่าเขาใช้เทคโนโลยีมากเกินไปแล้ว ให้เปลี่ยนไปใช้เวลากับกิจกรรมอื่นๆ บ้างจะดีกว่าการใช้เทคโนโลยีเป็นเวลานานเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของลูกคุณในระยะยาวได้
ที่มา – National Geographic
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา